Blackbox4.0

วันนี้ ลงทุนทองคำได้หรือยัง ?? 

หนึ่งคำถามที่จะได้ยินอยู่ตลอด คือคำถามที่เกี่ยวกับทองคำ 

ช่วงนี้ยิ่งได้ยินหนาหูมากขึ้นเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากความเสี่ยงบนการเมืองระหว่างประเทศที่มักจะมีข่าวเกี่ยวกับสงครามมาให้ได้ยินกันเสมอ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเรื่องสงครามเป็นสิ่งที่คาดเดายากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้จะเป็นเรื่องจริงว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มราคาจะขึ้นในช่วงเวลาการเกิดสงคราม แต่การซื้อทองคำในปริมาณที่มากเกินไปเพื่อหวังผลในช่วงสงครามก็ไม่ต่างอะไรกับการพนัน เพราะมันเป็นการพนันว่าสงครามจะเกิดหรือจะไม่เกิด พ่วงด้วยระยะเวลาที่ทนถือทองคำจากวันนี้ไปจนถึงวันที่เกิดสงคราม หากปัจจัยพื้นฐานเอื้ออำนวยต่อราคาทองคำ การถือทองคำรอไปเรื่อยๆ สามารถเป็นเรื่องที่ดีได้ แต่หากถือในเวลาที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย การถือทองคำไปเรื่อยๆ เพื่อหวังว่าจะมีสงครามนั้นกลับไม่แน่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี 

เพราะเหตุนี้ คำถามจึงกลับมาว่า แล้วในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่ปัจจัยพื้นฐานเอื้อต่อราคาทองคำหรือไม่ อย่างไร 

โดยปกติที่ไม่นับรวมช่วงเวลาสงคราม ราคาทองคำจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับความคาดหวังบนปริมาณ Excess Liquidity หรือ สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ในตลาด ยิ่งมีสภาพคล่องส่วนเกินมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อราคาทองคำเท่านั้น กลับกัน หากความคาดหวังของสภาพคล่องส่วนเกินลดน้อยลง นั่นก็จะกลายเป็นผลร้ายต่อราคาทองคำ 

นอกจากจะมองราคาทองคำในภาพของสภาพคล่องของเงินแล้ว เราสามารถใช้ความคาดหวังของ ‘ผลตอบแทนที่แท้จริง’ มาเป็นปัจจัยพื้นฐานของทองคำได้เช่นกัน  หลักการคิดง่ายๆ คือการเอาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เป็นตัวแทนของผลตอบแทนแบบไร้ความเสี่ยง (คือได้ผลตอบแทนนี้แน่ๆ) มาลบด้วยอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี ซึ่งสามารถไปดูตัวเลขได้จาก TIPS ซึ่งเป็นพันธบัตรที่ออกเพื่อปกป้องความเสี่ยงของเงินเฟ้อ 

ซึ่งหากใครไม่อยากคำนวณ สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้จากฐานข้อมูลของ Fed 

จากภาพนี้ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานี้ Real Yield นั้นปรับตัวสูงขึ้น การที่ Real Yield ปรับตัวสูงขึ้น แปลว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนบนพันธบัตรรัฐบาลที่ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงนั้น ปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อผลตอบแทนสูงขึ้น นักลงทุนสามารถย้ายเงินไปลงทุนในพันธบัตรที่ถือกันว่ามีความเสี่ยงต่ำ และยังได้ผลตอบแทน ซึ่งเมื่อเทียบกับการถือทองคำที่ไม่มีผลตอบแทนแล้ว ความน่าดึงดูดของการเข้าลงทุนในพันธบัตรนับว่ามากกว่าการลงทุนในทองคำ 

หรือจะมองอีกแง่ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยก็ได้ เพราะในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นแบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน และกระทบชิ่งไปที่สภาพคล่องทางการเงิน ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจต่ำลง เมื่อสภาพคล่องต่ำลง ก็กระทบกับราคาทองคำในเชิงลบเช่นกัน 

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และการปรับตัวลงของเงินเฟ้อ ทำให้ทองคำถูกกระทบอย่างหนัก ราคาทองคำปรับตัวลงอย่างที่ทุกคนเห็นในตลาด

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจัยรวมของตลาดทองคำจะดูราวกับไม่เอื้ออำนวยให้ราคาทองคำเปลี่ยนทิศทางไปเป็นขาขึ้น แต่ในช่วงเวลานี้มีการคาดเดาไปต่างๆ นานาถึงนโยบายของ Fed  ราคาทองคำจึงถูกดึงขึ้นมาได้บ้างเพราะความหวังที่ว่า Fed จะอ่อนข้อให้กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หาก Fed มีท่าทีอ่อนลงในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ทองคำก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ดี หาก Fed ไม่มีแนวโน้มจะอ่อนข้อให้ เมื่อรวมกับอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านจุดพี้คไปแล้ว และปีหน้าเราจะกลับเข้าสู่สภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง นี่จะกลับเป็นเหตุผลให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวลงได้ 

ส่วนตัวยังคงมีมุมมองที่ดีต่อทองคำ แต่เพื่อความชัวร์ ใครที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรจะรอให้นโยบายทางการเงินของ Fed ให้นิ่งเสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่านโยบายทางการเงินของ Fed จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อราคาทองคำ เช่น หาก Fed ยังคงนโยบายแข็งกร้าว เราอาจจะชะลอการซื้อทองคำไว้ก่อน แต่ถ้าหาก Fed เริ่มชะลอ และที่สำคัญ คือ ‘ลด’ อัตราดอกเบี้ย นั่นจะเป็นโอกาสสำคัญที่ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้น 

Mei 

ผู้เขียน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top