ตอนที่ 2 : สองค่าย สองแนวคิด เงินเฟ้อแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องชั่วคราว หรือจะมีตลอดไป ??? ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับแนวคิดทั้งสองค่ายเกี่ยวกับเรื่องเงินเฟ้อ เราต้องมาทำความเข้าใจขั้นแรกก่อนว่า การวัดตัวเลขเงินเฟ้อนั้น เป็นตัวเลข ‘Rate of Change’ ของเงินเฟ้อเมื่อเทียบเป็นรายปี รายไตรมาส หรือรายเดือน ดังนั้น เวลาดูตัวเลขเงินเฟ้อเราต้องดูให้ดีว่าตัวเลขเงินเฟ้อนั้นๆ เป็นตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อในวันนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาไหน โดยส่วนมาก หากตัวเลขเงินเฟ้อไม่มีการกำกับใดๆ ให้เราอนุมานไปก่อนว่านั่นคือตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในวันนี้เมื่อเทียบกับราคาสินค้าเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น การวัดอัตราเงินเฟ้อ จึงเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขในช่วงเวลาปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีต เมื่อการวัดอัตราดอกเบี้ยเป็นการวัดบนการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าเชิงเปรียบเทียบ ตัวเลขฐานในการคำนวนอัตราเงินเฟ้อจึงมีความสำคัญ การวัดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ มีแนวโน้มจะได้ตัวเลขใหญ่ๆ ง่ายกว่าการวัดอัตราเงินเฟ้อที่ต้องคำนวนจากฐานที่สูงเสมอ ตัวอย่างเช่น สมมติ หากในปี 2019 ราคาไข่ไก่ซึ่งปกติควรจะราคา 5 บาทต่อฟอง แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจมีปัญหา คนซื้อไข่น้อยลง ราคาไข่ไก่จึงลดลงมาเหลือ 3 บาทต่อฟอง ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีโครงการช่วยเหลือประชาชนโดยออกโครงการคนละครึ่ง ทำให้ประชาชนมีความสามารถในการซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเหตุนี้ ในปีถัดมา คือปี 2020 ราคาไข่ไก่จึงปรับตัวสูงขึ้นเพราะความต้องการซื้อกระเตื้องกลับมา ไข่ไก่จึงราคาเพิ่มขึ้น...