Blackbox4.0

[03.05.2023]Global Market Diary : EP16 // เมื่อธนาคารสหรัฐพากันล้มไม่หยุด มันเกิดอะไรขึ้น และมันจบแล้วหรือยัง ??

ในที่สุด ธนาคาร First Republic Bank (FRC) ก็ล้มไปแล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 หลังจากลุ้นกันอยู่นานท่ามกลางราคาหุ้นธนาคารที่ตกลงมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์การล้มของธนาคาร SVB และ Signature Bank ซึ่งถึงแม้เหล่าธนาคารใหญ่ทั้ง 11 ธนาคาร นำโดย JP Morgan จะช่วยเติมเงินให้ 30,000 ล้านเหรียญ แต่ก็ไม่ได้เป็นผลให้ธนาคาร FRC รอดพ้นจากหายนะครั้งนี้ 

คำถามคือ มันเกิดอะไรขึ้น ?? 

หากไปอ่านข่าวตามสื่อทั่วไป ส่วนใหญ่แล้ว สื่อจะให้เหตุผลถึงการล้มของธนาคารแห่งนี้อยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ โดยเหตุผลแรกคือเรื่องของกลุ่มลูกค้าของ FRC นั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรวยที่มีเงินฝากธนาคารมากกว่าที่รัฐรับประกัน หรือก็คือ 250,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของเงินฝากเป็นเงินฝากที่ไม่ได้รับการประกัน ดังนั้น FRC จึงเผชิญกับการไหลออกของเงินฝากมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา เงินไหลออกจากธนาคารมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์ จนกระทั่งส่งผลให้ธนาคารขาดแคลนเงินสดจนกระทั่งต้องปิดตัวลงไปในที่สุด 

และเรื่องที่ 2 สื่อรายงานว่าธนาคารบริหารงานผิดพลาดโดยให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จนทำให้ธนาคารมีรายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก

อย่างไรก็ดี ผู้ที่อยู่ในแวดวงการธนาคารกลับออกมาประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุผลของการล้มของธนาคาร First Republic Bank ไม่ได้เป็นเพราะธนาคารบริหารงานผิดพลาด แต่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินโดย Fed ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วถึง 5% ในช่วงเวลาเพียงปีเศษๆ ทำให้ธนาคารไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันเพื่อดึงดูดเงินฝาก โดยคู่แข่งคนสำคัญไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนราวๆ 3-4% ท่ามกลางการลดลงของมูลค่าการลงทุนในพันธบัตรที่ธนาคารถือครอง อันสืบเนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed 

การจะตัดสินใจว่าวิกฤติธนาคารรอบนี้จบหรือยัง พิจารณาได้จากเหตุผลที่ธนาคาร FRC ล้ม หากคิดว่าธนาคาร FRC ดำเนินงานผิดพลาดอย่างที่สื่อทั่วไปนำเสนอ ปัญหานี้ไม่ควรกลายเป็นโดมิโน่เอฟเฟคค์ และวิกฤติธนาคารควรจะจบที่ FRC 

แต่ถ้าหากเหตุผลที่ธนาคารล้มรอบนี้มาจากนโยบายทางการเงินของ Fed นี่เป็นปัญหาที่กระทบกับโครงสร้างการดำเนินงานของธนาคารโดยตรง ตราบใดที่ Fed ยังไม่เปลี่ยนนโยบาย และยังไม่เปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยให้กลายเป็นขาลง ธนาคารขนาดกลางถึงเล็กทั้งระบบล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบ และมีโอกาสจะเกิดการตื่นตระหนกจนธนาคารล้มได้ทั้งนั้น

ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วจนเกินไปของ Fed ส่งผลกระทบอะไรต่อธนาคารบ้าง เราลองมาไล่เรียงกันดูค่ะ 

จากที่นักการธนาคารใช้คำว่า ‘ธนาคารไม่สามารถปรับตัวทันตามนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed’ นั้นหมายความว่า โดยธรรมชาติของธนาคารบน Business Model นั้น ธนาคารจะไม่เก็บเงินสดเอาไว้เยอะ เพราะธนาคารจะใช้เงินสดเพื่อไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่าจากการลงทุนในระยะยาว แล้วนำส่วนต่างของผลตอบแทนมาดึงดูดเงินฝากที่เป็นหนี้สินระยะสั้นของธนาคาร แปลง่ายๆ ว่า ในยามปกติ การลงทุนระยะยาวย่อมต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนระยะสั้น เงินฝากสำหรับธนาคาร คือการที่ธนาคารยืมเงินจากลูกค้ามาในระยะสั้น และธนาคารต้องมีดอกเบี้ยระยะสั้นให้กับลูกค้าที่มาฝากเงิน ก็คือดอกเบี้ยเงินฝาก โดยดอกเบี้ยเงินฝากนั้นมาจากการที่ธนาคารสามารถหาผลตอบแทนโดยนำเงินไปลงทุนระยะยาวกว่า ไม่ว่าจะเป็นปล่อยกู้ก็ดี การซื้อพันธบัตรก็ดี เมื่อธนาคารได้ผลตอบแทนมาแล้ว ก็แบ่งผลตอบแทนส่วนหนึ่งกลับไปให้กับผู้ที่มาฝากเงิน ส่วนตัวเองได้กำไรบนส่วนต่างของดอกเบี้ย 

ในช่วงปีที่เกิดโรคระบาดโควิดปี 2020  Fed ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างสุดโต่ง รัฐบาลเองก็ดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างสุดโต่งเช่นกัน 2 ปัจจัยนี้ทำให้เกิดสภาวะเงินสดล้น เป็นช่วงเวลาที่เงินฝากในธนาคารนั้นสูงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

Cr. : https://www.reuters.com/markets/us/us-large-bank-deposits-rose-week-after-svb-collapse-fed-data-2023-03-24/

เมื่อเงินสดในมือของธนาคารมีเยอะ ธนาคารก็จำเป็นที่จะต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนมาให้กับผู้ที่มาฝากเงิน ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปที่ 0 รวมทั้งทำ QE ซึ่งมีการเข้าซื้อทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรสินเชื่อบ้าน (MBS) การเข้าแทรกแซงของ Fed ทำให้มุมมองบนความเสี่ยงของพันธบัตรที่ Fed รับซื้อนั้นเป็น 0 ทำให้บนมุมมองของธนาคารที่เข้าลงทุนคิดว่าการลงทุนบนพันธบัตรนั้นมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก อีกทั้งการลงทุนของธนาคารเป็นการลงทุนเพื่อเอาดอกเบี้ย ไม่ใช่เทรด ดังนั้น ธนาคารไม่ได้คิดจะขายพันธบัตรออกไปจนกว่าจะครบระยะเวลาไถ่ถอน เพราะเหตุนี้ ทรัพย์สินเพื่อการลงทุนเหล่านี้จึงถูกจัดวางไว้ในหมวดหมู่ ‘Hold to maturity’ หรือ ถือไว้จนกว่าจะไถ่ถอน และไม่มีการคิดมูลค่าผันแปรตามตลาด หรือ Mark to Market เพราะความตั้งใจเดิมคือมูลค่าของทรัพย์สินจะไม่ลดลงเพราะจะเก็บไว้จนกว่าจะไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดอายุนั่นเอง 

แต่เมื่อ Fed เริ่มเปลี่ยนนโยบาย จากนโยบายผ่อนคลายแบบสุดโต่ง มาสู่นโยบายที่เข้มงวดแบบสุดโต่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อัตราดอกเบี้ยในทุกช่วงระยะเวลาปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่รุนแรงกว่านั้นคือ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นถูกดึงให้สูงขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Inverted yield curve’  คือสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ระยะห่างที่ผิดปกติระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวห่างจากกันมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับโมเดลการหาเงินของธนาคาร เพราะธนาคารต้องการผลตอบแทนระยะยาวมาจ่ายดอกเบี้ยระยะสั้นให้เงินฝาก แต่เมื่อผลตอบแทนระยะยาวถูกกดดันด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว ทำให้ธนาคารไม่สามารถปรับตัวเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ตามสภาวะตลาด 

ดังนั้น ทางหนึ่ง ธนาคารมีความสามารถจำกัดในการเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้มาฝากเงิน ในขณะที่การลงทุนบนพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านการลงทุนบนกองทุน Money Market Fund (MMF) สามารถหาผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ผ่านโปรแกรม Reverse Repurchasing Agreement (RRP) ซึ่ง Fed เปิดช่องทางให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินที่มีเงินสด นำเงินมาลงทุนบนพันธบัตรในระยะสั้นๆ ผ่าน Fed โดย Fed ให้ผลตอบแทนกับสถาบันทางการเงินล่าสุดอยู่ที่ 4.8% อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ แม้ธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กและกลางจะพยายามเพิ่มผลตอบแทนเงินฝากเพื่อดึงดูดผู้ฝากเงินและหยุดการไหลออกของเงินฝาก แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับธนาคารอยู่ดีที่จะทำผลตอบแทนให้ได้เท่ากับ MMF 

นอกจากสภาวะของผลตอบแทนที่มีความผิดปกติแล้ว ธนาคารยังต้องเผชิญกับการสูญเสียมูลค่าบนการลงทุนพันธบัตรในทุกหมวดหมู่ ก่อนหน้าเหตุการณ์การล้มของธนาคาร SVB อาจจะไม่มีคนตระหนักนักว่ามูลค่าของพันธบัตรที่ธนาคารถือเพื่อลงทุนมีมูลค่าที่ลดลงราวๆ 20-30% เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed แต่ในเวลานี้ ประชาชนตระหนักว่าธนาคารมีการถือทรัพย์สินที่เสี่ยงต่อการมีมูลค่าที่ลดน้อยลง ทำให้คนที่มีเงินฝากในระดับเกินกว่าที่รัฐให้การประกัน ต่างพากันทยอยถอนเงินในบัญชีออกไปลงทุนใน MMF บ้าง หรือนำไปฝากไว้กับธนาคารใหญ่ที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งการถอนเงินออกจากธนาคารที่เร็วเกินไปในช่วงเวลาที่ทรัพย์สินที่ลงทุนนั้นสูญเสียมูลค่า ทำให้ธนาคารไม่อาจหาสภาพคล่องมาเติมได้ทันการไหลออกของเงินฝาก จนกระทั่งทำให้ธนาคารต้องล้มลงไปอย่างในเคสของ First Republic Bank 

อีกหนึ่งความกังวลต่อสถานการณ์ของธนาคารคือเรื่องการปล่อยสินเชื่อบนอสังหาเชิงพาณิชย์ หรือ Commercial Real Estate (CRE) ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การให้เงินกู้ ไปจนถึงพันธบัตรสินเชื่อ (Commercial Morgage-Backed Securities) ซึ่งการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ 70% ของหมวดหมู่นี้ถูกให้สินเชื่อโดยธนาคารท้องถิ่น วันนี้มีเสียงของความเป็นห่วงออกมาแล้วว่าคุณภาพของสินเชื่อบน CRE นั้นอาจจะมีปัญหา เพราะพบว่า 15-20% ของพื้นที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์ในวันนี้ที่นิวยอร์กนั้นกลายเป็นที่ร้างซึ่งไม่มีใครเช่า อันสืบเนื่องจากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่เกิด Covid ขึ้น

Cr: Quill Intelligence

ซึ่งหาก Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ราวๆ 5% เป็นระยะเวลานานเกินไป ล้วนแล้วแต่ไม่ส่งผลดีต่อธนาคารเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อการล้มของธนาคารรายถัดไป ยิ่งทำให้บนเชิงจิตวิทยา หุ้นธนาคารมีโอกาสถูกเทขายมากขึ้น เงินฝากถูกถ่ายเทออกไปที่อื่นมากขึ้น ในวันนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการของธนาคาร แต่อยู่ที่ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นมากกว่า 

เพราะธนาคารนั้น จะอย่างไร ก็ไม่สามารถสู้ได้ในกรณีที่เกิด Bank Run หรือการแห่ถอนเงิน ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน การล้มของธนาคารล้วนเป็นผลจากการแห่ถอนเงินอันเนื่องจากการตื่นตระหนกทั้งสิ้น ในวันนี้ จึงเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทั้งกระทรวงการคลังของสหรัฐและ Fed ว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถหยุดยั้งสภาวะตื่นตระหนกได้ 

สำหรับธนาคาร SVB และ Signature Bank รัฐบาลอาจจะกล้ำกลืนดูแลในส่วนของเงินฝากทั้งหมดได้ ส่วนเคส First Republic Bank นั้น JP Morgan รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเงินฝากทั้งหมด โดยทุกบัญชีเงินฝากของ FRC นั้นจะถูกย้ายไปเป็นบัญชีเงินฝากของ JP Morgan จึงไม่มีผู้ฝากเงินคนใดสูญเสียเงินฝาก ไม่ว่าจะถูกประกันหรือไม่ถูกประกันก็ตาม 

แต่ถ้าหากเกิดการล้มของธนาคารมากกว่านี้ ก็เป็นคำถามว่า แล้วถัดไปใครจะเป็นผู้มีความสามารถพอจะเข้ามาซื้อทรัพย์สินของธนาคารที่ล้มไปได้อีก ใครจะเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วย Fed และรัฐบาลแก้ไขปัญหาการล้มของธนาคารได้ตลอดไป 

นี่เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความอยากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อบนความไม่มั่นคงของสถาบันทางการเงินสหรัฐ 

1 thought on “[03.05.2023]Global Market Diary : EP16 // เมื่อธนาคารสหรัฐพากันล้มไม่หยุด มันเกิดอะไรขึ้น และมันจบแล้วหรือยัง ??”

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top