เวลาที่สื่อ หรือใครก็ตามพูดถึง QE หลายครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง เราจะได้ยินคำว่า QE เป็นนโยบายพิมพ์เงิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว QE ก็เป็นนโยบายพิมพ์เงินจริงๆ เพียงแต่ว่าผลกระทบจากการพิมพ์เงินจากนโยบาย QE อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ ว่าเป็นการอัดฉีดเงินเฟ้อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสมอไป วันนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงเครื่องมือที่ธนาคารกลางใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น FED, ECB หรือ BOJ ใช้ ว่าแท้ที่จริงแล้ว ผลกระทบที่แท้จริงของการทำนโยบาย QE นั้นคืออะไรกันแน่
.
คำว่า QE ย่อมาจาก Quantitative Easing หรือ นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หากเป็นธนาคารกลางเรียกเครื่องมือนี้ เขาจะเรียกว่า Large-Scale Asset Purchases ซึ่งเป็นคำที่ตรงไปตรงมาในแง่ของวิธีการใช้เครื่องมือนี้มากที่สุด เพราะ QE คือการที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาจากอากาศ แล้วนำไปกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งในเคสของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) นอกจากจะกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแล้ว ยังกว้านซื้อ MBS หรือพันธบัตรสินเชื่อบ้าน รวมไปถึงในปี 2020 ในช่วงสถานการณ์ lock down อันสืบเนื่องจากโควิด Fed ไม่เพียงแต่ซื้อพันธบัตรเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงขั้นซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดเครดิต (ตลาดตราสารหนี้) จะไม่พังทลายลงมา
.
ดังนั้น การใช้คำว่า ‘นโยบายพิมพ์เงิน’ ก็ไม่ได้นับว่าผิดอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทำจริงๆ
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาถึงเส้นทางของเงินที่เข้ามาสู่ตลาด เราจะเห็นได้ว่า เงินที่ Fed พิมพ์ออกมานั้น ได้กลับเข้าไปอยู่กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ขายพันธบัตรเข้าสู่ตลาดรายใหญ่ เพราะเมื่อ Fed ซื้อพันธบัตร การซื้อนั้นไม่ได้ซื้อโดยตรงกับลูกหนี้ แต่เป็นการซื้อผ่านตัวกลางบนตลาดเปิด เงินจึงไหลจาก Fed เข้าไปสู่ธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ขายพันธบัตรและมีบัญชีอยู่กับ Fed
ดังนั้น Fed พิมพ์เงินก็จริง แต่เงินนั้นเมื่อเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ มันจะไปกองรวมกันอยู่ที่บัญชีเงินทุนสำรองของธนาคาร และเงินทุนสำรองของธนาคาร ไม่ใช่เงินที่ถูกนับว่าหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จนกว่าธนาคารจะมีธุรกรรมการให้กู้ยืมกับประชาชน หรือบริษัท หรือใครก็ตาม ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจ นั่นจึงนับว่าเงินได้ไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจและนับเป็นส่วนที่ทำให้สามารถเกิดเงินเฟ้อได้ เพราะเงินที่อยู่ในบัญชีทุนสำรองนั้นไม่อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ ตรงข้าม หากมีเงินทุนสำรองเยอะ แต่ธนาคารไม่มีแรงกระตุ้นให้ปล่อยเงินกู้เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ นี่กลับทำให้เกิดสถานการณ์เงินฝืดได้ด้วยซ้ำ
และเมื่อเรามาพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาก่อนหน้าโควิด เราจะพบว่าที่เป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 2% ของธนาคารกลาง ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาไม่เคยต้องแก้ปัญหาว่าด้วยเรื่องการลดอัตราเงินเฟ้อเลย มีแต่ปัญหา ‘เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ’ มากกว่า เพราะอัตราเงินเฟ้อแทบจะไม่เคยถึงเป้าหมายที่ 2%

Cr. https://www.macrotrends.net/countries/USA/united-states/inflation-rate-cpi
เหตุผลว่าด้วยเรื่องทำไมก่อนการอัดฉีดเงินในช่วงโควิด สหรัฐอเมริกาไม่เคยต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อมาก่อนแม้ว่าจะทำ QE เป็นระยะเวลายาวนาน สามารถให้เหตุผลได้ดังนี้
- เหตุผลด้านการผลิต สืบเนื่องจากก่อนโควิด เราอยู่ในโลกของ globalization โลกพึ่งพาการผลิตจากกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สำคัญและราคาถูก ทำให้ฟาก Supply หรือกำลังการผลิตมีเหลือเฟือในราคาที่ถูก ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มถูกลงมากกว่าที่จะสูงขึ้น
- การพัฒนาของเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนา การทำงาน การผลิต มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าลดลง
- การพัฒนาของเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงาน เชลล์แก๊ส เชลล์ออย ถูกพัฒนาตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา มีเงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาพัฒนาเพื่อหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ปรากฏว่าเพราะแหล่งพลังงานที่มีมากขึ้น แรงและเร็ว กว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ ทำให้ราคาน้ำมันลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ราวๆ ปี 2015 เป็นต้นมา จนกระทั่งมาต่ำสุดช่วงก่อนเกิดการระบาดโรคโควิด ทำให้ต้นทุนสินค้าและการขนส่งต่ำลง

Cr. https://www.statista.com/chart/27000/brent-crude-barrel-price-timeline
- ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐไม่มีแรงกระตุ้นให้ปล่อยเงินกู้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของ Basel3 ซึ่งเป็นกฏการควบคุมดูแลธนาคารหลังเกิดเหตุการ Great Finanacial Crisis (GFC) ปี 2008 ทำให้ธนาคารต้องมีเงินทุนที่มากขึ้น ประกอบกับ FED เริ่มให้ดอกเบี้ยกับธนาคารที่นำเงินมาฝากไว้กับ Fed ทำให้ธนาคารอยากจะฝากเงินไว้กับ Fed เพื่อเอาดอกเบี้ยมากกว่าการเสี่ยงปล่อยเงินกู้ท่ามกลางกฏเกณฑ์ที่เคร่งครัดมากขึ้น ทำให้แม้ Fed จะทำ QE ซื้อพันธบัตรมากแค่ไหน แต่เงินก็อยู่ในบัญชีธนาคารที่อยู่กับ Fed มากกว่าจะถูกใช้ให้เป็นประโยชน์บนเศรษฐกิจรากฐาน การเพิ่มขึ้นของฟากความต้องการซื้อจึงเติบโตอย่างจำกัดเมื่อมองจากเม็ดเงินที่ไหลออกมาจากธนาคาร
- การทำ QE และดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0% ของ Fed ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่บริษัทในตลาดหุ้นนิยมกู้ หรือเอาเงินสดที่บริษัทมี มาซื้อหุ้นคืน หรือที่เรียกว่าการทำ Stock Buy Back ผลกระทบจากความนิยมนี้ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจคือ มันทำให้บริษัทไม่เอาเงินกลับเข้ามาลงทุนในด้านสินค้าบริการ ไม่เอาเงินกลับมาสร้างความแข็งแรงให้กับบริษัทผ่านการพัฒนาบุคลากร เพราะต้นทุนของเงินทุนที่นำไปใช้กับการลงทุนเหล่านั้นแพงกว่าการนำเงินไปซื้อหุ้นคืนเพื่อให้ราคาหุ้นขึ้น ทำให้แทนที่เงินจะไหลสู่เศรษฐกิจรากฐาน ก็กลายเป็นเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น ไม่สร้างการพัฒนาสินค้าและบริการให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้น และไม่เกิดหมุนเวียนของเงินในระดับเศรษฐกิจรากฐาน
ดังนั้น เมื่อความต้องการซื้อถูกจำกัดมากกว่าความสามารถในการผลิต ทำให้สินค้าบริการหลั่งไหลเข้ามาสหรัฐมากขึ้นในราคาที่ต่ำลง ในขณะที่ฟากความต้องการซื้อกลับถูกจำกัดเพราะการเกิดของเงินในระบบเศรษฐกิจรากฐานมีการเติบโตที่ต่ำ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการทำ QE แม้จะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น แต่กลับทำให้ราคาสินทรัพย์เกิดการเฟ้ออย่างมาก สินทรัพย์เสี่ยงพากันเฮโลราคาขึ้นทั้งกระดาน ยกเว้นทองคำที่ราคาตกลงทั้งแต่ปี 2011 เพราะผลตอบแทนที่แท้จริงในตลาดนั้นสูงขึ้น เมื่อผลตอบแทนในตลาดสูง ความดึงดูดใจในการซื้อทองคำจึงลดลง ทองคำจึงเข้าสู่ตลาดหมีในขณะที่ตลาดหุ้นขึ้นอย่างคึกคัก
สาเหตุที่ QE ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาหุ้นเฟ้อนั้น สาเหตุมีดังนี้
- เมื่อ Fed กว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรสินเชื่อบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พันธบัตรในตลาดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ความเสี่ยงต่ำ กองทุนจำนวนมากโดยเฉพาะกองทุนบำนาญ (Pension Fund) รวมไปถึงบริษัทประกันต่างๆ ถูกกำหนดว่าจะต้องถือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อปกป้องต้นทุน แต่เมื่อพันธบัตรถูก Fed กว้านซื้อไป ทำให้เหล่ากองทุนต่างๆมีเงินสดในมือเพิ่มขึ้นแทนการมีพันธบัตรในครอบครอง ความเสี่ยงในตลาดลดลงเพราะมี Fed อัดฉีดสภาพคล่องในฐานะแหล่งดอลล่าร์ที่เป็น last resource
เมื่อความเสี่ยงลดลง เงินสดในมือของสถาบันทางการเงินมีเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกกำหนดโดย Fed ต่ำจนถึง 0% จึงส่งผลให้เกิดสถานการณ์ ‘search for yield’ เกิดขึ้น หรือการไล่ล่าตามหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั่นเอง และเมื่อตลาดมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ตลาดหุ้นคือคำตอบนั้นของตลาด ทำให้ราคาหุ้นแพงขึ้น หุ้นเทคโนโลยีในธีมหุ้นเติบโตมาแรง รวมทั้งตลาดคริปโตเองก็ขยายตัวขึ้น แม้จะผ่านช่วงเวลาเติบโตและฟองสบู่แตก แต่โดยรวม ภาพของตลาดคริปโตนับว่าขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการทำ QE
- เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอน ทำให้บริษัทใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำนโยบายซื้อหุ้นคืนมากกว่านำเงินไปลงทุนบนการวิจัยและพัฒนาสินค้าบริการ เทรนนี้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของบริษัทในตลาดหุ้นเพื่อต้องการเรียกให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท ทำให้นักลงทุนวางใจว่าบริษัทจะซื้อหุ้นคืนเพื่อขับดันราคาหุ้นให้สูงขึ้น ตอบสนองความพึงพอใจของผู้ถือหุ้น ทำให้เงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น ดันราคาหุ้นให้สูงท่ามกลางความตีบตันในด้านการเติบโตของบริษัทในแง่ของการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรบริษัทที่สูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คำว่า Zombie Company ได้แพร่หลาย และราคาหุ้นเกิดอาการเฟ้อ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 หลังเกิดนโยบาย QE มาจนกระทั่งถึงช่วงโรคระบาดโควิด เราเห็นได้ชัดว่านโยบาย QE ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจรากฐานเกิดเงินเฟ้อเหมือนกับนโยบาย QE ช่วงโควิด แต่สิ่งที่เหมือนกันคือราคาสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งหุ้น ทั้งคริปโต ต่างก็พากันปรับตัวสูงขึ้นอย่างคึกคักหลัง Fed ทำ QE ช่วงเศรษฐกิจล็อคดาวน์
ส่วนอะไรคือเหตุผลที่ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อแตกต่างกันระหว่างการทำ QE ในช่วงปี 2008 และ QE ในช่วงปี 2020 รอติดตามได้ในตอนที่ 2 ค่ะ