ในวันนี้ คำถามที่อยู่ในใจหลายๆ คนเกี่ยวกับการล้มของธนาคารหลายแห่งในสหรัฐคงหนีไม่พ้นคำถามเรื่องความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการพังทลายของระบบธนาคาร รวมไปถึงหลังจากนี้ การล้มของธนาคารจะกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจและตลาดทุนบ้าง และมันจะกระทบลามมาถึงประเทศไทยหรือไม่ บทความนี้จะมาดูความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดกับทั้งระบบเศรษฐกิจและตลาดทุน รวมทั้งผลกระทบที่สามารถจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ ก่อนอื่นเลย เรามาดูท่าทีของ Fed ต่อการล้มของธนาคารกันก่อน ในขณะที่ตลาดคิดว่าการล้มของธนาคารจะทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลือระบบธนาคาร แต่เห็นได้ชัดว่า Fed ไม่ได้ต้องการจะช่วยเหลือธนาคารใด เป้าหมายของ Fed ยังคงอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อที่ 2% เพราะแม้ทุกคนจะมองอัตราเงินเฟ้อไปในทิศทางเดียวกันว่าเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ในขาลงเรียบร้อยแล้ว แต่การประชุม Fed ที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ยังยืนยันว่าเงินเฟ้อในวันนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ที่การขึ้นดอกเบี้ยรอบต้นเดือนพฤษภาคมจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย แต่ยังไม่มีสัญญาณใดที่บอกว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือ แล้วความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยตามความคาดหวังของตลาดจะเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อมองจากท่าทีของ Fed แล้ว สาเหตุที่ Fed จะยอมลดอัตราดอกเบี้ยสามารถเกิดขึ้นได้จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ Fed ให้ความสำคัญเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคืออัตราเงินเฟ้อลดลงไปอยู่ที่ต่ำกว่า 2% และตัวเลขการว่างงานกลับขึ้นไปสูงอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะลดต่ำกว่า 2% และอัตราว่างงานที่จะสูงขึ้นจนสร้างความน่ากังวล...