Blackbox4.0

[10.05.2023]Global Market Diary : EP17 // ระวังปริมาณดอลล่าร์ในตลาดลดลง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นบนหุ้น ทองคำ และคริปโต

ถ้าถามว่ามีทรัพย์สินใดบนโลกนี้ที่อ่อนไหวต่อปริมาณของดอลล่าร์บ้าง หากไล่เรียงลำดับแล้ว ก็คงมี คริปโตเคอเรนซี่ ทองคำ และหุ้นเทคโนโลยี ที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของการเฝ้าระวัง 

หากเราไปดูราคาคริปโต ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่เร็วต่อการเปลี่ยนแปลงของดอลล่าร์มากที่สุด เราจะพบว่าตอนนี้ราคาคริปโตเริ่มมีการเทขายออกมาบ้างแล้ว ทองคำเองก็มีสัญญาณของโมเมนตัมที่แย่ลง ในขณะที่ Nasdaq ยังดูไปได้สวย 

แน่นอนว่ายังไม่มีอะไรแน่นอนว่าราคาสินทรัพย์เหล่านี้ในอนาคตอันสั้นจะเคลื่อนไหวอย่างไร แต่ในอดีตที่ผ่านมา เราพบว่าปัจจัยที่จะส่งเสริม หรือกดดัน ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือสภาพคล่องของดอลล่าร์ในตลาด 

ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูแนวโน้มของสภาพคล่องบนดอลล่าร์กัน ว่าน่าจะเป็นตัวที่ช่วยเหลือ หรือคอยกลั่นแกล้ง สร้างความลำบากให้กับสินทรัพย์เหล่านี้ 

1.นโยบายของ Fed ยังคงอยู่ในโหมดที่แข็งกร้าว ต่อให้ Fed ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่หาก Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 5-5.25% ไปเรื่อยๆ รวมทั้งไม่มีการกลับเข้าซื้อตราสารใดๆ ในตลาดอีก ปล่อยให้ทรัพย์สินในงบดุลของ Fed หายไปเดือนละ 95,000 ล้านเหรียญ นี่คือความต้องการของ Fed โดยตรงที่ต้องการจะลดปริมาณของดอลล่าร์ลงเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ 

2.กระทรวงการคลังสหรัฐให้สัญญาณแล้วว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ ภายในปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายน ได้อีกหากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้ออกพันธบัตรเพื่อหาสะสมเงินกลับเข้ามาเพื่อใช้จ่าย ทั้งนี้ เรื่องการขึ้นเพดานหนี้เป็นเรื่องของการเมืองสหรัฐที่มีแนวโน้มจะเล่นเกมกันไปเรื่อยๆ แม้ว่าอาจจะยังไม่มีข้อสรุปในเร็ววัน แต่สหรัฐจะไม่ปล่อยให้ประเทศตัวเองชำระหนี้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือท่ามกลางการต่อรองเรื่องเพดานหนี้ จะมีการอลุ่มอล่วยเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐสามารถชำระหนี้ต่างๆ แบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน พอเล่นเกมพอแล้ว ค่อยมีการตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้อย่างแท้จริง 

ดังนั้น หลังจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่กระทรวงการคลังสหรัฐมีการออกพันธบัตรใหม่ออกมาเพื่อกู้ยืมเงินจากตลาดกลับมาสะสมในบัญชีที่ Fed หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Treasury General Account ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับกระทรวงการคลังสหรัฐในการใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งในขณะนี้เหลือเงินอยู่ทั้งหมดราวๆ 270,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถใช้จ่ายได้อีกแค่ราวๆ หนึ่งเดือนเท่านั้น 

Cr. – https://fred.stlouisfed.org/series/WTREGEN

การที่กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรมาขายจำนวนมาก เป็นสัญญาณที่บอกว่าสภาพคล่องกำลังจะหายไป แต่ต้องดูประเภทของพันธบัตรที่ออกอีกครั้งว่าเป็นพันธบัตรระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะหากกระทรวงการคลังออกพันธบัตรระยะสั้นเยอะ สภาพคล่องอาจจะไม่หดลงมากนักเพราะเงินสามารถย้ายจากการลงทุนผ่าน Fed บน overnignt repo market มาซื้อพันธบัตรระยะสั้นที่ออกใหม่แทน หากผลตอบแทนมีความน่าดึงดูดกว่าการลงทุนผ่าน Fed ซึ่งตอนนี้ให้ผลตอบแทนราวๆ 5.05%

แต่ถ้ากระทรวงการคลังสหรัฐออกพันธบัตรระยะยาวออกมาในปริมาณมาก การเข้าลงทุนบนพันธบัตรระยะยาวจะเป็นรูปแบบการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไป ซึ่งจะต้องการเงินใหม่เข้ามา และดูดสภาพคล่องในตลาดกลับออกไปผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ซึ่งโอกาสที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรในปริมาณที่ใกล้เคียงกันมีค่อนข้างสูง และน่าจะทำให้สภาพคล่องของดอลล่าร์หายไปมากขึ้น 

3. การล้มลงของธนาคารนั้นส่งผลไปถึงการหดตัวลงของตลาดเครดิต (ตลาดสินเชื่อ) รวมไปถึงทำให้ราคาตราสารหนี้ต่างๆ หดตัวลงด้วยเช่นกัน 

การที่ตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้ต่างๆ มีมูลค่าที่ลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของดอลล่าร์ในทิศทางที่เป็นลบ และจากกราฟด้านบนเราจะเห็นแนวโน้มในอนาคตที่ชัดเจนว่าตลาดสินเชื่อจะแย่ลงไปอีกมาก ทำให้บริษัทเอกชนต้องเผชิญกับความกดดันเรื่องเงินทุน ไม่สามารถขยายธุรกิจได้ และอาจจะต้องลดขนาดของธุรกิจลงหากธนาคารต้องดึงสินเชื่อกลับอันสืบเนื่องจากปัญหาในระบบธนาคารในตอนนี้ 

หากบริษัทมีแนวโน้มจะต้องลดขนาด ไม่ว่าจะเป็นลดแรงงาน ลดการลงทุนเพิ่ม ลดการถือครองทรัพย์สิน ลดการผลิต สิ่งที่จะตามมาคือราคาหุ้นในตลาดย่อมมีแนวโน้มจะราคาลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ Fed ไม่มีการอัดฉีดเงินเพื่อพยุงตลาดในเวลานี้ 

จากเหตุการณ์นี้ เราสามารถมองได้ว่าการเจริญเติบโตของโลกกำลังหมุนไปในทิศทางตรงกันข้าม ก่อนที่ Fed จะทำการปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น เราอาจจะได้เห็นความเสียหายทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่ใช่แค่ soft landing อย่างที่ Fed หวัง มีโอกาสสูงมากที่เราจะได้เห็น Hard Landing ปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า ซึ่งในช่วงเวลาของ Hard Landing จะยิ่งทำให้ดอลล่าร์ขาดแคลนมากขึ้นไปอีกสืบเนื่องจากความต้องการดอลล่าร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น หากตั้งแต่นี้ต่อไปเราไม่มีแหล่งเงินอื่นเข้ามาเพิ่ม เช่นการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐที่อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ หรือมีสภาพคล่องจากต่างประเทศ โดยเฉพาะฟากเอเชียเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ยุโรปมีสภาพที่ไม่ต่างจากสหรัฐเท่าไหร่ คือมีแนวโน้มของปริมาณยูโรที่แย่ลง แต่ความหวังอยู่ที่ฟากเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน โดยญี่ปุ่นน่าจะยังคงนโยบายการควบคุมดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี โดยการกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นทุกราคา และจีนก็น่าจะมีการผ่อนคลายเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตท่ามกลางการหดตัวของเศรษฐกิจประเทศฟากตะวันตก 

ซึ่งเมื่อมองภาพทั้งหมดแล้ว เราพบว่าการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องจากประเทศอื่นๆ ยังมีความจำกัด ในขณะที่การหดตัวของดอลล่าร์มีแนวโน้มจะรุนแรงมากกว่า ดังนั้น สินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้น ความอ่อนไหวต่อข่าวที่เพิ่มมากขึ้น นี่ไม่ใช่ตลาดที่ง่ายต่อการลงทุน ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แม้แต่ Druckenmiller มหาเศรษฐีระดับพันล้านของสหรัฐที่คร่ำหวอดในวงการการลงทุนในฐานะผู้บริหารกองทุนและ Hedge Fund ซึ่งสามารถทำผลตอบแทนกว่า 30% ติดต่อกันเป็นเวลา 30 ปี ก็ยังบอกว่าในเวลานี้ การมีเงินสดไว้เพื่อรอโอกาสลงทุนในช่วงเวลาของ Hard Landing น่าจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ดีอย่างหนึ่งของนักลงทุน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top