วันนี้คงไม่พูดถึงปรากฏการณ์ธนาคารล้มที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้จริงๆ เรื่องนี้ต้องบอกว่าอยู่นอกเหนือเรดาร์ของเรามาก เพราะภายใต้กฏเกณฑ์การดูแลควบคุมกำกับธนาคารหลัง GFC หรือวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เรียกได้ว่าควบคุมจนธนาคารกระดิกตัวลำบากมากในแง่ของการถือสินทรัพย์เสี่ยงและการใช้ leverage ทำให้แม้เราจะมองว่าบนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่หยุดของ Fed จะทำให้ระบบการเงินเปราะบางและสามารถระเบิดได้ แต่ธนาคารเป็นกลุ่มที่เราคิดว่าน่าจะอดทนกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยไหวเพราะการถูกควบคุมอันรัดกุม
.
อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่ามันคงรัดกุมไม่พอ เพราะปรากฏว่า ในที่สุด ธนาคารก็มีสัญญาณของวิกฤติขึ้นมาแล้ว Silicon Valley Bank เป็นธนาคารขนาดใหญ่ธนาคารหนึ่งของสหรัฐที่มีจุดขายในการให้บริการทางการเงินกับเหล่าสตาร์ทอัพและ Venture Capital (VC) ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ก็ยกธงขาวยอมแพ้ ต้องปิดตัวลงหลังจากที่พยายามหาเงินทุนเพิ่มด้วยการเสนอขายหุ้น แต่แทนที่จะมีใครมาซื้อหุ้น กลับกลายเป็นถูกเทขายแทน ในที่สุด ธนาคารไม่สามารถหาเงินมาเติมสภาพคล่องได้ ก็ทำให้ธนาคารต้องถูกปิดไปด้วยประการฉะนี้
.
อะไรเป็นสาเหตุเบื้องหลังการล้มของ SVB ในครั้งนี้
ความจริงที่เกิดขึ้นคือ SVB ไม่ได้ดำเนินธุรกิจอะไรผิดพลาดมากนัก นอกจากเรื่องที่ธนาคารไม่ได้ประกันความเสี่ยงเรื่องของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เราไม่แน่ใจนักว่ามีธนาคารไหนที่ให้ความสำคัญกับการประกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยบ้าง
SVB ยังคงมีรายได้ที่ปกติ มีสินเชื่อที่มีคุณภาพ มีลูกหนี้ที่ยังสามารถชำระดอกเบี้ยให้กับธนาคารได้ บนการดำเนินการพื้นฐานของธนาคาร ไม่ได้มีอะไรที่ผิดพลาดทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ SVB มีปัญหา มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของธนาคารในการถือครองทรัพย์สิน ท่ามกลางการดูแลที่เข้มงวด ธนาคารไม่อาจถือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงและไม่มีคุณภาพ แต่ธนาคารสามารถถือทรัพย์สินที่มีคุณภาพได้ ซึ่งทรัพย์สินที่มีคุณภาพหมายความว่าเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ซึ่งโดยปกติย่อมหมายความรวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และทรัพย์สินทุกประเภทที่มีภาครัฐให้การสนับสนุน รวมไปถึง MBS หรือพันธบัตรสินเชื่อบ้านที่ Fed สนับสนุนผ่านการทำนโยบาย QE ในช่วงโควิดด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Fed เปลี่ยนนโยบาย ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว สินทรัพย์ที่ธนาคารถือ จากตอนแรกเป็นสินทรัพย์ที่ไร้ความเสี่ยง ทำให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาหลายเท่า ราคาพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรสินเชื่อบ้านล้วนแล้วแต่ราคาตกต่ำลงเพราะนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
.
เงินฝากธนาคารลดลงเรื่อยๆ
ไม่ใช่แค่ราคาทรัพย์สินที่ธนาคารถืออยู่จะตกต่ำลงเท่านั้น แต่ฟากของเงินฝากเองก็ถูกถอนออกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อใจธนาคาร แต่เป็นเพราะผลตอบแทนของธนาคารต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนบน Money Market Fund (MMF) ทำให้เงินถูกถอนออกไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝากประจำก็ดี หรือเป็นการลงทุนใน MMF ก็ดี

Cr. : เงินฝากในธนาคารพาณิชย์สหรัฐลดลงเรื่อยๆ จาก Jim Bianco research
ไดนามิกส์ของสินทรัพย์ธนาคาร ข้างหนึ่งคือเงินฝาก อีกข้างหนึ่งคือการถือทรัพย์สิน ทั้งทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องและไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งด้วยกฏเกณฑ์ ธนาคารถูกกำหนดให้ถือทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ก็เพราะหากเงินฝากถูกถอนออกไป ธนาคารต้องสามารถขายทรัพย์สินให้กลายเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วที่สุด และทรัพย์สินนั้นต้องมีความเสี่ยงต่ำ เพื่อที่จะได้กระทบต่อราคาขายของทรัพย์สินไม่ให้เกิดการขาดทุน
แต่เมื่อ Fed ทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารสูญเสียจากการถือพันธบัตร มันจึงเป็นการยากสำหรับธนาคารในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะทันทีที่ธนาคารขายทรัพย์สิน มันจะถูกระบุทันทีว่าธนาคารขาดทุนจากการถือทรัพย์สินนั้นๆ ไปเท่าไหร่ และตราบใดที่ธนาคารยังไม่ขายทรัพย์สินนั้น มันจะยังไม่ถูกระบุว่าเป็นการขาดทุนที่แท้จริง

ดังนั้นในเคสของ SVB ที่มีการถือพันธบัตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพันธบัตรสินเชื่อบ้านนั้นถือเอาไว้ถึงราวๆ 80,000 ล้านเหรียญ หากธนาคารต้องการจะดึงดูดเงินฝากธนาคารที่ถูกถอนออกไปจำนวนมากให้กลับมาใหม่ ธนาคารก็ต้องขายพันธบัตรเหล่านี้และบุ๊คการขาดทุนในครั้งนี้

Cr. Blockwork : https://www.youtube.com/watch?v=vU1g7ZUQkWI
เรื่องเลวร้ายลง เมื่อ SVB ตัดสินใจขายหุ้นเพื่อหาเงินทุนเข้ามาเติมสภาพคล่องของธนาคาร แต่ปรากฏว่าการประกาศขายหุ้นกลับสร้างความไม่มั่นใจให้กับลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะเหล่าสตาร์ทอัพและ VC จนเป็นเหตุให้ลูกค้าธนาคารพากันแห่ถอนเงิน คงไม่มีอะไรเลวร้ายสำหรับธนาคารไปมากกว่าการแห่ถอนเงินอีกแล้ว เพราะในที่สุด วันที่ 10 มีนาคม 2566 ธนาคารก็ไม่สามารถพยุงกิจการเอาไว้ได้อีก ซึ่งสาเหตุหลักๆ เป็นเพราะเกิดสภาวะความหวาดกลัว แห่ถอนเงิน รวมไปถึงเหล่านักลงทุนขาชอร์ตที่พากันแห่ short หุ้น SVB จนหุ้นตกระเนระนาด ยิ่งพาให้เกิดความหวาดกลัวซ้ำเติมมากขึ้นไปอีก
โดมิโน่ตัวต่อไป
มีการถกเถียงกันมากมายว่าเหตุการณ์การล้มลงของ SVB ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ก็จริง แต่ไม่ใช่ไซส์ยักษ์เหมือนปี 2008 ที่ Lehman Brothers ล้ม แล้วมันจะอันตรายขนาดไหน จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ระบบการเงินทั้งระบบของสหรัฐล้มเลยได้หรือไม่ และ Fed จะเข้ามาช่วยเหลือหรือเปล่า
แม้จะมีคนที่เชื่อว่ามันยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนเพราะขนาดของ SVB ไม่ใช่ไซส์ที่จะล้มเศรษฐกิจได้ แต่สำหรับคนที่เชื่อว่ามันเป็นจุดเปลี่ยน มี 2 สาเหตุหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง
- SVB ไม่ใช่ธนาคารเดียวที่ถือตราสารหนี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ต้องบอกว่าทุกธนาคารมีการถือตราสารหนี้เอาไว้ทุกแห่ง เพราะตราสารหนี้ในช่วงที่ Fed ทำ QE นั้น เป็นสินทรัพย์ที่ถูกยอมรับว่ามีคุณภาพเพียงพอตามกฏเกณฑ์ ทำให้ทุกธนาคารมีการถือตราสารเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ฝากเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ธรรมดาและ healthy ที่สุดของเหล่าธนาคาร บนความเสี่ยงของตราสารหนี้ในช่วงนั้นที่ต่ำมากๆ ถึงขั้นที่เป็น risk free (ไม่มีความเสี่ยง) เลยทีเดียว
ดังนั้น การที่ SVB ล้มอันสืบเนื่องจากความหวาดกลัวธนาคารจะไม่สามารถคืนเงินฝากได้เพราะการขาดทุนบนตราสาร ส่งผลเชิงจิตวิทยามากกว่า ว่าผู้ฝากเงิน จะเป็นบุคคลธรรมดาก็ดี เป็นบริษัทก็ดี นับแต่นี้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินฝากคืน โดยเฉพาะใครก็ตามที่ฝากเงินมากกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐซึ่งเป็นจำนวนเงินฝากที่ได้รับการประกันเอาไว้จากภาครัฐ อาจจะต้องสูญเสียเงินตลอดไปหากธนาคารล้มเหมือนเคส SVB
หาก Fed ยังนิ่งดูดายและมองว่านี่เป็นเหตุการณ์ไม่รุนแรง เรื่องอาจจะเลยเถิดจนกลายเป็นความตื่นตระหนกและเกิดความสูญเสียในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ประเด็นมันอยู่ที่ความตื่นตระหนก วันนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดนักว่าประชาชนสหรัฐมีความตื่นตระหนกระดับไหน สัปดาห์หน้าเราน่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
- ความเสียหายที่เกิดจากการเทขายตราสารหนี้เพราะการล้มลงของธนาคาร อย่าลืมว่าธนาคารมีตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก เฉพาะพันธบัตรสินเชื่อบ้านก็มีอยู่ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว เรื่องนี้คล้ายกับสมัยปี 2008 มากตรงที่จุดเริ่มต้นของการแตกหักเกิดจากการเทขายพันธบัตรสินเชื่อบ้านจนส่งผลต่อราคาตราสารอันเชื่อมโยงต่อไปถึงสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ Lehman Brothers ต้องปิดตัวลงและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด
ในครั้งนี้ หากมีแค่ SVB ที่ล้มลงและไร้ความตื่นตระหนก ธนาคารอื่นๆ ไม่ต้องเผชิญกับความตื่นตระหนก ความเสียหายจากการเทขายพันธบัตรอาจจะอยู่ในวงจำกัด แต่ถ้าเกิดความตื่นตระหนกในวงกว้าง พันธบัตรสินเชื่อบ้านอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เร่งทำให้เศรษฐกิจแตกหักหนักหนามากขึ้นไปอีก
กล่าวโดยสรุปคือ สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดในเวลานี้คือความตื่นตระหนก และราคาตราสารที่ถูกกระทบจากการที่ต้องถูกเทขายเพราะธนาคารปิดกิจการ
สัปดาห์หน้า คงเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่น่าติดตาม ว่าสถานการณ์นี้จะคลีคลายไปในทางใด และ Fed จะยอมถอยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
ที่น่าสนใจที่สุด ถ้า Fed ถอย งานนี้จะถอยแค่ไหนเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการเงินสหรัฐจะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา