Blackbox4.0

[12.05.2023]Global Market Diary : EP18 // ความขัดแย้งระหว่างการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลกับนโยบายของ Fed กับโอกาสการลงทุน 

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน ก็คือการที่ Stanley Druckenmiller นักลงทุนที่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านผู้คร่ำหวอดในโลกการลงทุนมาอย่างยาวนาน ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวอเมริกันหันมาให้ความสนใจกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้เกษียณอายุ เขายืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐไม่อาจให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายนี้ได้ตลอดไปเพราะโครงสร้างประชากรศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนภาระหนี้ของรัฐบาลที่ถ้ายังแบกค่าใช้จ่ายนี้ต่อไป ในที่สุดวันหนึ่งค่าใช้จ่ายนี้ก็จะท่วมประเทศ หนี้สินจะท่วมประเทศอย่างไม่อาจแก้ไขได้ 

รูปด้านล่างเป็นสไลด์ที่ Stan Druckenmiller นำเสนอ จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยในอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้าจะขยายตัวไปอีกอย่างน้อย 10% ของ GDP สหรัฐ ซึ่งหากดูจากการใช้เงินจากภาษีแล้ว ในวันนี้ สหรัฐใช้เงิน 40% ของภาษีไปกับค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัย โดยในอีก 20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะนับเป็น 60% ของเงินภาษี ความเป็นห่วงของเขาคือ ในที่สุดแล้ว ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ล้วนต้องพึ่งพาลูกหลาน คนเจนรุ่นถัดไปของสหรัฐ แต่เขาไม่แน่ใจว่าลูกหลานและคนเจนถัดไปจะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนเจนรุ่นก่อนๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยเงินภาษีของคนรุ่นเด็กกว่า

สิ่งนี้กำลังบอกอะไรนักลงทุนบ้าง ??

เห็นได้ชัดว่าเมื่อมองไปข้างหน้า เราไม่อาจเห็นหนทางที่รัฐบาลสหรัฐจะใช้จ่ายเงินลดลงได้เลย การพูดถึงค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในรอบนี้ของ Stan Druckenmiller สะท้อนถึงความกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี และนี่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสภาวะความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงงบประมาณที่นอกเหนือจากการช่วยเหลือสภาวะความเป็นอยู่ของชาวสหรัฐให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนบนโครงสร้างพื้นฐาน และการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่นักการเมือง รวมไปถึงรัฐบาลของ โจ ไบเด้น หาเสียงกันเอาไว้ 

ที่สำคัญ มันยังไม่นับรวมดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งท่ามกลางการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้พุ่งสูงขึ้นไปอีก จากข้อมูลคาดว่าปี 2050 เราอาจจะได้เห็นภาระค่าใช้จ่ายในส่วนดอกเบี้ยนี้สูงขึ้นแซงหน้าค่าใช้จ่ายภาครัฐอื่นๆ ที่ไม่นับรวมประกันสังคมและโปรแกรม Healthcare ของรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่สบายใจต่อค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและดราม่าที่ไร้ความหมายเกี่ยวกับเพดานหนี้สหรัฐ แรงกระตุ้นของนักการเมืองสุดท้ายแล้วก็ยังคงเป็นการชนะการเลือกตั้ง การให้ได้มีซีนในสื่อเพื่อที่จะบอกว่าฉันมีตัวตนและมีความสำคัญในประเทศ ดังนั้น บนแรงกระตุ้นนี้ ทำให้ไม่มีนักการเมืองและรัฐบาลใดที่หาเสียงด้วยการบอกว่าฉันจะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศลง ตรงกันข้าม รัฐบาลจะหาเสียงด้วยการบอกว่าฉันจะใช้จ่ายเงินอย่างไร โดยไม่สนใจว่าประเทศจะมีเงินจำนวนนั้นอยู่หรือไม่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เหมือนกันทั่วโลกที่มีระบบเลือกตั้ง ไม่จำกัดอยู่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 

จากแนวโน้มพฤติกรรมแบบนี้ของรัฐบาล ทำให้เราเห็นแนวโน้มของค่าใช้จ่ายของสหรัฐ ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่มีลดลง ซึ่งขัดกับนโยบายของ Fed ที่ต้องการลดเงินในระบบเศรษฐกิจลงเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเลิกซื้อพันธบัตร ค่าใช้จ่ายทางการเงินในการกู้ยืมเงินจะสูงขึ้น และยิ่งผู้ซื้อพันธบัตรในตลาดรายใหญ่อย่าง Fed ถอนตัวออกไป ทำให้ผู้ซื้อพันธบัตรในตลาดลดลง ยิ่งเป็นการขับดันให้รัฐบาลต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ซื้อพันธบัตรในสภาวะที่ไม่มี Fed หนุนหลัง ผลที่ตามมาคือรัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร ยิ่งรัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณมากขึ้น ย่อมหมายถึงงบประมาณที่ขาดดุลเพิ่มมากขึ้นทุกปี หนี้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี และปัญหาดราม่าเรื่องเพดานหนี้ที่จะมีต่อไปอย่างไม่จบสิ้น 

ดังนั้น เพื่อที่รัฐบาลจะได้ใช้เงินมากขึ้น รัฐบาลต้องการให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายทางการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ความท้าทายคือ ระหว่างอำนาจของรัฐบาล และอำนาจของ Fed ใครจะมีอำนาจมากกว่ากัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เรายังไม่เห็นสภาวะที่ Fed จะมีอำนาจเหนือรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกประธาน Fed ที่ยังต้องถูกเสนอผ่านนักการเมือง ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ Fed มีอำนาจที่ทัดเทียมและเป็นอิสระจากรัฐบาล ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าในที่สุดแล้ว Fed ก็ต้องดำเนินนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการใช้เงินของรัฐบาล หากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว ในที่สุด Fed ก็อาจไม่มีทางเลือกนอกจากกลับไปดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายตามเดิม 

ซึ่งหากพูดถึงโอกาสทางการลงทุนแล้ว มันสามารถแปลได้ว่า นักลงทุนจะมีโอกาสทำกำไรได้เสมอ เพราะรัฐบาลสหรัฐจะไม่ยอมดำเนินนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการหดตัวมากจนเกินไป รัฐบาลสหรัฐยังจะต้องใช้เงินไปกับนโยบายต่างๆ เหมือนเดิมและเพิ่มขึ้น จะต้องเป็นพี่ใหญ่ที่กำหนดทิศทางของโลกใบนี้ รวมทั้งจะใช้เงินเพื่อให้มั่นใจว่าทิศทางของโลกจะเป็นไปอย่างที่ต้องการ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือการใช้เงินไปกับการผลักดันเรื่อง Climate Change นั่นเอง 

นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากอำนาจของรัฐบาลเหนือกว่า Fed แต่ถ้า Fed ยืนยันที่จะดำเนินนโยบายเพื่อนำเศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่จุดสมดุลโดยการขัดแย้งกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาตอบสนองนโยบายทางการคลังได้ นั่นจะเป็นฝันร้ายของตลาดทุนอย่างแท้จริงทั่วโลกอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งแม้โอกาสจะมีอยู่น้อยยิ่งกว่าน้อย แต่ระวังเอาไว้เสียหน่อยก็ไม่เสียหายอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างในช่วงเวลานี้ 

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top