เรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้อย่างหนึ่งในช่วงเวลานี้คือเรื่องของหนี้สินที่ล้นเต็มไปหมด
หนี้ภาคประชาชนว่าเยอะแล้ว แต่ที่เยอะกว่าคือหนี้ภาครัฐ และหลายประเทศในโลกนี้ โดยเฉพาะประเทศฟากที่พัฒนาแล้ว เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจในประเทศพัฒนาแล้วว่าจะมีความน่าไว้ใจมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ทำให้เครดิตเรทติ้ง หรือความน่าเชื่อถือของเครดิตในประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อความน่าเชื่อถือสูง ความเสี่ยงในการก้าวเข้าไปเป็นเจ้าหนี้จึงต่ำ เมื่อความเสี่ยงต่ำ ความสามารถในการกู้ของประเทศนั้นๆ จึงมีมากกว่า อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายก็มีแนวโน้มจะต่ำกว่าประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า
หนึ่งในประเทศที่ทั้งโลกจับตามองในเรื่องของภาระหนี้ในขณะนี้ หนีไม่พ้นประเทศพี่ใหญ่ บิ๊กเบิ้ม อย่างสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่รัฐบาลสหรัฐจะต้องปรับเพดานหนี้ให้สูงขึ้นเพื่อรองรับการใช้เงินของรัฐบาล และรองรับการชำระดอกเบี้ย ทำให้เรื่องของปริมาณหนี้ถูกกลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ทุกคนต่างก็รู้ดีอยู่แก่ใจ ตลาดเองก็รู้ดีไม่แพ้กัน ว่าแม้มันจะมีดราม่าในเรื่องการขึ้นเพดานหนี้อยู่บ้าง แต่สุดท้ายรัฐบาลสหรัฐก็ต้องปรับเพดานหนี้ให้สูงขึ้นอยู่ดี
เพียงแต่สิ่งที่น่าสนใจในวันนี้คือ ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐจะต้องปรับขึ้นเพดานหนี้ พันธบัตรรัฐบาลจะต้องถูกนำออกมาขายเพิ่มขึ้น แล้วใครจะเป็นคนซื้อพันธบัตรสหรัฐ ???
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ในช่วงเวลาที่ใครๆ ก็ทำ QE รวมถึง Fed เรื่องใครจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นคำถามที่ไม่มีใครให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีสูงอยู่แล้ว และยังมีธนาคารกลางหลายธนาคารกลางใช้นโยบาย QE (นโยบายซื้อทรัพย์สินของธนาคารกลาง) รวมทั้งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ถูกบังคับให้ต้องมีทรัพย์สินที่มีคุณภาพที่มากขึ้นตามกฏ Basel3 ทำให้ธนาคารมีความจำเป็นต้องถือพันธบัตรสหรัฐมากขึ้นตามไปด้วย รวมๆ แล้ว หน้าตาของผู้ที่ถือพันธบัตรสหรัฐก็มีหน้าตาอยู่ประมาณนี้ จนถึงปี 2022

ในเมื่อก่อนหน้านี้เราไม่ต้องใส่ใจเรื่องผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมาก แล้วทำไมในวันนี้มันถึงเป็นคำถามที่ต้องเอามาใส่ใจ ???
คำตอบก็คือ ในวันนี้ เป็นช่วงเวลาที่เงินเฟ้อมีโอกาสจะเหนียวกว่าที่หลายคนคาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู้ ซึ่งระยะเวลาในการสู้น่าจะยาวนานกว่าที่คิด รวมไปถึงนโยบายหยุดการทำ QE และตั้งใจลดปริมาณการถือครองพันธบัตร ทำให้นับจากนี้ต่อไป จะต้องมีคนที่มาซื้อพันธบัตรสหรัฐแทน Fed มันจึงเป็นคำถามสำคัญว่า แล้วต่อไป ใครจะเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลในยุคที่ไม่มี Fed เป็นผู้ซื้ออีกแล้ว
ทีนี้ ผลของการมีความต้องการพันธบัตรสหรัฐลดลง ส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ผลที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรัฐบาลต้องออกพันธบัตรมากขึ้นตามเพดานหนี้ที่สูงขึ้น แต่ความต้องการกลับลดลง จึงทำให้ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มจะลดลงไปด้วย หรือพูดได้อีกอย่างว่า เพื่อให้พันธบัตรมีความน่าดึงดูด อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะต้องสูงขึ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาพันธบัตรในตลาดรองจึงจำเป็นต้องขายในราคาที่ลดลงเพื่อดึงดูดผู้ซื้อให้กลับเข้ามาซื้อ
สิ่งที่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับตลาดพันธบัตรคือ ตัวพันธบัตรเอง โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐที่เป็นทรัพย์สินคุณภาพสูง เป็นทรัพย์สินที่ถูกใช้เพื่อค้ำประกันขอเงินกู้ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อรายวันที่เหล่าสถาบันทางการเงินใช้เป็นแหล่งหมุนหาสภาพคล่อง (Repo Market / Repurchasing Agreement) ในตลาดนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถูกใช้เป็นทรัพย์สินค้ำประกันเพื่อขอยืมดอลล่าร์กลับออกไป ดังนั้น หากราคาพันธบัตรตกลงมากเกินไปในช่วงที่ตลาดมี leverage หรือ take risk ที่สูง จะทำให้สถาบันทางการเงินอาจมีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่องในบางช่วงขณะได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐไม่อยากจะเห็นมากที่สุด
ดังนั้น สามารถพูดได้ว่า การที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถูกขับดันให้มีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและราคาที่ลดลง ไม่เป็นผลดีต่อ Liquidity (สภาพคล่อง) ในตลาดเลย ข้อควรระวังหลังจากรัฐบาลสหรัฐเพิ่มเพดานหนี้สำเร็จคือช่วงเวลาที่กระทรวงการคลังเริ่มทำการออกพันธบัตรใหม่มาอีก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อปริมาณดอลล่าร์ในตลาด หากปริมาณพันธบัตรถูกปล่อยออกมามากเกินไป ดอลล่าร์จะแข็งค่าขึ้น สินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสถูกเทขายสูงตามไปด้วย
ตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดพันธบัตรของประเทศอังกฤษที่เกือบจะพังในช่วงเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลที่นำโดย Liz Truss มีความต้องการจะใช้เงิน แต่ธนาคารกลางของอังกฤษอยู่ในช่วงที่ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวทางการเงินเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
สิ่งที่ตามมาคือ ตลาดเทขายพันธบัตรอังกฤษอย่างรุนแรงเพราะเห็นแล้วว่ารายได้ของรัฐบาลอังกฤษจะต้องลดลงเพราะนโยบายการลดภาษี ในขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลจะต้องเพิ่มขึ้นมหาศาลบนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะนำมาซึ่งการออกพันธบัตรโดยรัฐบาลอังกฤษจำนวนมากจากความต้องการใช้เงินของรัฐบาล
เมื่อพันธบัตรใหม่จะออกมาเยอะ หมายถึงราคาพันธบัตรที่จะตกลงในอนาคตและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่จะสูงขึ้น ทำให้เกิดกระแสการเทขายพันธบัตรในทันที ประจวบเหมาะกับทริกเกอร์สำคัญของประเทศอังกฤษคือการถือพันธบัตรของกองทุนเกษียณอายุ ขนาดของกองทุนเกษียณอายุ (Pension Fund) ที่ประเทศอังกฤษนับได้ว่าใหญ่มากๆ ใหญ่พอๆ กับขนาดของ GDP ของประเทศอังกฤษเลย ทำให้เมื่อพันธบัตรถูกเทขาย ราคาพันธบัตรลดลง เหล่า Pension Fund ที่มีการใช้พันธบัตรรัฐบาลที่ตัวเองถือเพื่อค้ำประกันและเพิ่มสภาพคล่องบนการทำ SWAP ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินตัวหนึ่งที่เหล่า Pension Fund ใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็เกิดปัญหาขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ราคาพันธบัตรตกลงอย่างมาก เหล่า Pension Fund ก็ต้องการสภาพคล่องเพื่อมาเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ค้ำประกันที่หายไป ดังนั้น Pension Fund จึงต้องขายสินทรัพย์ที่มีสภาพสูงที่สุด นั่นก็คือพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น มันจึงกลายเป็นลูปนรกลูปหนึ่ง ที่เมื่อราคาพันธบัตรตก กองทุนต้องการสภาพคล่องเพิ่ม ก็ขายพันธบัตรออกไป ยิ่งขายพันธบัตรออกไป ก็ยิ่งกดดันให้ราคาพันธบัตรตกลงเรื่อยๆ พอราคาพันธบัตรตก กองทุนก็ต้องใช้สภาพคล่องเพิ่มอีกเพื่อคงสถานะของมูลค่าสินทรัพย์ที่ค้ำประกัน จากนั้นก็ขายพันธบัตรออกไปอีก และเวียนกันไปแบบนี้จนกระทั่งตลาดพันธบัตรของอังกฤษอัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นไปสูงปรี๊ด ราคาตกลงมาอย่างน่าใจหาย ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยการทำ QE ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม อังกฤษทำ QE ได้ไม่นานก็ยกธงขาวว่าไม่ไหวแล้ว ร้อนถึง Liz Truss ที่ถูกทั้งตลาดกล่าวหาว่าเธอเป็นสาเหตุทำให้ตลาดพันธบัตรอังกฤษแทบจะพังทลาย สุดท้าย จบลงตรงที่รัฐบาลของ Liz Truss ก็ต้องถอยฉากออกไปในที่สุด แล้วตลาดจึงกลับมาทำงานเป็นปกติดังเดิม
จากเคสนี้จะเห็นได้ว่า การใช้เงินของรัฐบาล และนโยบายของธนาคารกลางมีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมาก ในเคสของสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่น่าทริกเกอร์บน Pension Fund และการใช้พันธบัตรรัฐบาลเพื่อ Leverage ก็เป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่ามันจะไปโป๊ะที่ตรงไหน
เป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากจริงๆ สำหรับปี 2023 นี้ค่ะ