ในช่วงที่ผ่านมา จู่ๆ ใน Facebook ก็มีฟีดที่เกี่ยวกับ Y2K ในเชิงของแฟชั่นอย่างมากมาย เราซึ่งเป็นคนที่ไม่เข้าใจอะไรเรื่องแฟชั่นเลย จึงไพล่ไปนึกถึงเหตุการณ์ทางการเงินในช่วง Y2K ว่ามันมีบางเรื่อง ที่เรามั่นใจว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ ว่าเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนช่วงปี 2000 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Y2K bug (Millennium bug) ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้สร้างเครื่องมือบางอย่างขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในปี 2000
Y2K Bug หรือ Millennium bug เป็นจุดบกพร่องของคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับเรื่องของปี คศ. โดยมีความกังวลว่าการอ่านปี คศ 2000 จะไม่สามารถทำได้ โดยคอมพิวเตอร์อาจจะกลับไปอ่านเป็นปี คศ. 1900 แทน เพราะการอ่านวันที่ก่อนหน้านั้นถูกตั้งให้อ่านเพียงเลขสองหลักหลัง เช่นปี คศ 1999 จะถูกอ่านว่าปี 99 ดังนั้น เมื่อถึงปี 2000 หากคอมพิวเตอร์อ่านปีเพียงสองหลักสุดท้าย ซึ่งก็คือ 00 คอมพิวเตอร์อาจไม่สามารถตีความข้อมูลว่าเป็นปี 2000 แต่อาจกลับไปอ่านข้อมูลเป็นปี 1900 แทน
ด้วยความกังวลว่าปรากฏการณ์ Y2K นี้จะก่อให้เกิดความผิดพลาดบนระบบคอมพิวเตอร์และส่งผลต่อความผิดพลาดในเรื่องระบบการเงิน ทำให้ Fed ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ เพราะหากเกิดเหตุให้สภาพคล่องทางการเงินเกิดปัญหาอันสืบเนื่องมาจากระบบคอมพิวเตอร์ มันสามารถทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และเหนือความสามารถในการแก้ปัญหาได้ ดังนั้น Fed จึงคิดเครื่องมือพิเศษขึ้นมาเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในปี 2000 จุดประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อวันที่ในปฏิทินเลื่อนไปที่ปี 2000 เงินในท่อระบบการเงินจะไหลเวียนคล่อง ไม่ติดขัด และไม่เกิดปัญหาไม่พึงประสงค์ใดๆ
ในปี 1999 Fed ออกนโยบายหลายอย่างเพื่อรองรับความไม่แน่นอนเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่นโยบายที่จัดว่าน่าฮือฮามากที่สุด คือการประกาศทำสัญญา option กับสถาบันทางการเงินเพื่อประโยชน์ด้านสภาพคล่องในช่วงรอยต่อระหว่างปี 1999 และปี 2000 ทั้งนี้ การทำสัญญา option กับสถาบันทางการเงินถูกแบ่งออกเป็น 2 เครื่องมือสำคัญดังนี้
เครื่องมือที่ 1 : Special Liquidity Facility (SLF)
เครื่องมือนี้ เป็นการทำสัญญากันระหว่าง Fed และสถาบันทางการเงิน ว่าสถาบันทางการเงินสามารถมาขอกู้ Fed ที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1999 จนถึง 7 เมษายน 2000 โดยใช้ option เป็นเครื่องมือ
ความสำคัญของเครื่องมือนี้อยู่ตรงไหน ?? โดยปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่เรียกว่า Fed Fund Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้สำหรับกู้ยืมกันและกัน จะอยู่ในระยะของกรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.5-4.75% Fed Fund Rate ก็จะวิ่งอยู่ระหว่าง 4.5-4.75% แล้วแต่ demand/supply และ สภาพคล่องทางการเงินในแต่ละช่วงเวลาของตลาด
ในเคสของสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่มีบัญชีอยู่กับ Fed สถาบันทางการเงินเหล่านี้ในยามที่ต้องการสภาพคล่องระยะสั้น ก็จะไปที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า Repurchasing agreement
ฟังดูยาก แต่มันคือการที่สถาบันทางการเงินนำสินทรัพย์ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสินทรัพย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นำไปค้ำประกันเพื่อขอเงินกู้ออกมา โดยเงินกู้นี้เป็นเงินกู้รายวัน คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นรายวัน จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า Fed Fund Rate แต่จะสูงกว่ามากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในวันเวลานั้นๆ
ดังนั้น ในปี 1999 เมื่อ Fed ให้สัญญาณอนุญาติสถาบันทางการเงินมากู้เงินกับ Fed ได้ ก็แปลว่าผู้ให้เงินทุนกับตลาดคือ Fed ซึ่งมีเงินทุนอันไม่จำกัด เพียงแต่อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมจะได้ผลประโยชน์สูงสุดก็คือเมื่อผู้กู้ยืมกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า Fed Fund Rate อยู่ 1.5%
การที่ตลาดบอกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่า Fed Fund Rate 1.5% นั่นคือสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าสภาพคล่องในตลาดลดลง ผู้ให้กู้ไม่ต้องการจะให้กู้เพราะมีเงินไม่เพียงพอ หากต้องการจะกู้ ก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
แต่เมื่อสถาบันทางการเงินทำสัญญากับ Fed เท่ากับว่าเมื่อใดก็ตามที่ตลาดมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ดันอัตราดอกเบี้ยตลาดให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ Fed เปิดโอกาสให้กู้ เหล่าสถาบันทางการเงินก็จะไปที่ Fed เพื่อขอกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าตลาด
นี่คือเครื่องมือที่ 1
มาถึงเครื่องมือที่ 2 มันถูกเรียกว่า Standby Financial Facility หรือ SFF
ระหว่าง SLF และ SFF เป็นเครื่องมือที่มีความคล้ายกันมาก โดย SFF คือเครื่องมือที่ Fed เปิดประมูลขาย option ให้กับเหล่าผู้ที่สามารถเข้าประมูลพันธบัตรรัฐบาลได้ นั่นก็คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั่นเอง โดยผู้ที่ถือ option เหล่านี้ จะมีสิทธิ์ในการขอกู้ยืมเงินในยามที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า Fed Fund Rate 1.5% โดย Fed ทำการเปิดประมูลขายไปทั้งหมดเป็นมูลค่าประมาณ 480 billion ดอลล่าร์สหรัฐ
ความแตกต่างระหว่าง SLF และ SFF คือ ผู้ที่ทำ SLF นั้นเป็นเหล่าสถาบันทางการเงินที่มีความต้องการสภาพคล่องบนตลาด ในขณะที่ SFF นั้น มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเหล่านายหน้าหลักที่ขายพันธบัตร เพราะ Fed คิดว่า SLF นั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะไปถึงเหล่านายหน้าขายพันธบัตรเหล่านั้น จึงเพิ่ม SFF ขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจว่าตลาดการซื้อขายพันธบัตรจะไม่ถูกกระทบด้วยสถานการณ์ Y2K
ผลจากการเกิดขึ้นของเครื่องมือพิเศษนี้ ทำให้หน้าตาของงบดุลของ Fed พองโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่ Fed เสนอสภาพคล่องพิเศษนี้ให้ตลาด แต่ไปพองที่สุดในช่วงสิ้นปี 1999 เข้าสู่ปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนกังวลมากที่สุด

Cr : https://mishtalk.com/economics/jim-bianco-says-this-is-qe-like-y2k
ผลพวงที่ตามมาจากเหตุการณ์นี้ คือ บนปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในตลาด มันก็ถูกฉีดเข้ามาในตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน ในที่สุด Nasdaq ก็ไปพี้คสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2000 ตามมาด้วยการแตกของตลาดหุ้นอินเตอร์เน็ตในที่สุด

แน่นอน ว่าการอัดฉีดเงินของ Fed อันสืบเนื่องจากความกังวลเรื่อง Y2K ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมแตก แต่สภาพคล่องที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัพย์สินเสี่ยงราคาขึ้นไปสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง จึงปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นเองว่าการใช้เครื่องมือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของ Fed ไม่ใช่หนึ่งในสาเหตุที่เร่งให้เกิดสภาวะฟองสบู่ เมื่อ Fed เก็บสภาพคล่องกลับไป ฟองสบู่จึงอยู่ไม่ได้และแตกในที่สุด
นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2000 ซึ่งเป็นบทเรียนหนึ่งของการเพิ่มสภาพคล่องและดูดสภาพคล่องออกของ Fed เพราะเหตุนี้ กูรูหลายคนจึงมักออกมาเตือนบ่อยๆ ถึงเรื่องตลาดหุ้นที่อาจมีมูลค่าเกินกว่าความจริงและเกินกว่าสภาพคล่องที่จะสามารถขับดันราคาหุ้นสหรัฐให้ขึ้นไปได้อย่างมั่นคง
เราได้แต่มาลุ้นกันต่อไปค่ะ ว่าตลาดที่พยายามจะ ‘Fight the Fed’ รอบนี้ จะสู้ชนะหรือแพ้ บนการดูดสภาพคล่องของดอลล่าร์ออกรอบนี้โดยธนาคารกลางสหรัฐ