Blackbox4.0

[24.04.2023]Global Market Diary : EP15 // De-Dollarization จะเลิกใช้ดอลล่าร์ ??? มันไม่ง่ายขนาดนั้น

ในวันนี้ สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและคุยกันอย่างออกรสออกชาติมากที่สุดเรื่องหนึ่ง นอกจากเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้แล้ว ก็ยังมีเรื่องการเสื่อมสลายของดอลล่าร์และการมาแทนของเงินหยวน อันสืบเนื่องมาจากการพูดคุยตกลงกันในระดับประเทศนำโดยประเทศจีนเพื่อหวังจะเพิ่มปริมาณการใช้เงินหยวนในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ เป็นการตอกย้ำความเชื่อว่าดอลล่าร์กำลังจะเสื่อมสลาย และเงินหยวนจะผงาดแทนดอลล่าร์ 

คำถามที่น่าสนใจคือ ความเชื่อนี้เชื่อถือได้แค่ไหน และสำหรับนักลงทุนที่มีการลงทุนระหว่างประเทศ หรือมีการลงทุนใน global Asset เช่น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ หรือคริปโตเคอเรนซี่ นั้น การเข้าใจความเคลื่อนไหวของดอลล่าร์มีผลอย่างมากในการเข้าลงทุน ดังนั้น บนคำพูดที่ว่า ดอลล่าร์จะหมดมูลค่า สิ่งที่นักลงทุนควรรู้มีอะไรบ้าง ?? 

.

สิ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจ อย่างแรกเลยคือ ทุกการลงทุน ช่วงระยะเวลา หรือกรอบเวลาในการลงทุนมีความสำคัญมาก การพูดว่าดอลล่าร์จะหมดมูลค่า ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อในสิ่งนี้ สิ่งที่เราต้องถามต่อคือ แล้วดอลล่าร์จะหมดมูลค่าเมื่อไหร่ ภายใน 1 ปี หรือภายใน 10 ปี เพราะเมื่อระยะเวลาต่างกัน วิธีคิดเรื่องความเสี่ยงก็เปลี่ยนไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น การมองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสะท้อนความเชื่อนี้ก็แตกต่างกันเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรามองว่ากว่าดอลล่าร์จะหมดมูลค่า อาจจะต้องใช้เวลา 10 ปี แบบนี้แปลว่าเราไม่สามารถเอาทฤษฎีดอลล่าร์หมดมูลค่าเอามาใช้ได้หากเราต้องการลงทุนเพียง 1-3 ปี เป็นต้น

.

และยิ่งทฤษฎีของเรากินระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ แปลว่าความเสี่ยงบนความผันผวนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย นักลงทุนจึงต้องกลับมาถามตัวเองให้หนักว่า พร้อมจริงๆ หรือไม่ที่จะลงทุนบนเรื่องราวของการหมดมูลค่าของดอลล่าร์??

.

เรื่องที่ 2 นักลงทุนควรสำรวจปริมาณการใช้ดอลล่าร์ของทั้งโลกว่าในขณะนี้มันถูกใช้ในส่วนไหน อย่างไร และถ้าจะมีอะไรมาแทน มีแนวโน้มจะมาแทนเร็วแค่ไหน ??

.

เริ่มจากปริมาณการใช้ดอลล่าร์เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์บนโลกใบนี้

Cr. The MacroCompass 

เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บนโลกของเรานั้นมีการใช้ดอลล่าร์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างๆ มากเกินกว่า 80% มีการใช้ดอลล่าร์เพื่อชำระเงินในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศถึง 50% รวมไปถึงมีการออกตราสารหนี้ในรูปแบบของดอลล่าร์ราวๆ 50%

.

ที่สำคัญ พันธบัตรสหรัฐก็ยังคงความเป็นทรัพย์สินที่ทั่วโลกต่างก็วิ่งไปหาในฐานะทรัพย์สินที่ถือเพื่อการลงทุนบนดอลล่าร์ เพราะตลาดพันธบัตรสหรัฐมีขนาดใหญ่มากกว่า 20 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ มีสภาพคล่องสูง และไม่มีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินผ่านตลาดพันธบัตร แน่นอน จากรูปด้านล่าง แม้ปริมาณการซื้อพันธบัตรสหรัฐจะดูแล้วเหมือนอยู่ในขาลง แต่เมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรของประเทศอื่นๆ บนโลกนี้ เราก็ยังไม่เห็นว่าใครจะมาทดแทนดอลล่าร์ในตลาดนี้ได้ในระยะเวลา 1-5 ปีนี้ หรือแม้แต่ 10 ปี ก็ยังไม่แน่ว่าจะดึงมงกุฏออกจากดอลล่าร์ได้ 

Cr. The MacroCompass 

ยิ่งเมื่อเราพิจารณาจากปริมาณหนี้ในสกุลดอลล่าร์ที่อยู่นอกสหรัฐ ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 12 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ที่ทำให้แต่ละประเทศไม่อาจเดินออกจากระบบดอลล่าร์ได้โดยง่าย การมีหนี้ในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ หมายถึงการต้องหาเงินมาชำระหนี้คืนในสกุลเงินดอลล่าร์เช่นเดียวกัน ให้ลองจินตนาการดูว่า หากประเทศใดก็ตามปฏิเสธการใช้เงินดอลล่าร์เพื่อการซื้อขายระหว่างประเทศ กระบวนการนี้จะทำให้เกิดการลดลงของการไหลเข้าของดอลล่าร์ทันที คำถามคือ… แล้วบริษัทในประเทศนั้นๆ ที่กู้ยืมบนสกุลเงินดอลล่าร์ จะหาดอลล่าร์ที่ไหนมาชำระหนี้คืน ??? 

 Cr. The MacroCompass

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมด เราจะเห็นได้ชัดว่า มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ในการที่ดอลล่าร์จะกลายเป็นเงินที่ไม่มีใครต้องการ ตรงกันข้าม ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหา พันธบัตรสหรัฐและดอลล่าร์มักจะกลายเป็นที่หลบภัย มีความต้องการสูง จนหลายๆ ครั้ง ความต้องการดอลล่าร์ในช่วงที่ตลาดพากันเทขายนั้นหนักหน่วงมากจนธนาคารกลางต้องออกมาให้ความช่วยเหลือ เหมือนอย่างช่วงที่ดอลล่าร์แข็งค่ามากๆ ในช่วงการล็อคดาวน์ทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศช็อคเพราะดอลล่าร์ขาดมือ ธนาคารกลางสหรัฐต้องเปิด SWAP Line กับธนาคารกลางประเทศต่างๆ และต้องเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน กลายมาเป็นนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างสุดโต่ง ก่อนที่ดอลล่าร์จะค่อยๆ อ่อนค่าลงตามลำดับ 

.

ซึ่งในวันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐค่อนข้างตอบสนองรวดเร็วต่อปัญหาสภาพคล่องของดอลล่าร์ แม้ธนาคารกลางจะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ขึ้นในความเร่งที่ลดลง ที่สำคัญ ธนาคารกลางมีการเปิด SWAP Line ไว้เรียบร้อยแล้ว แถมไม่ได้เปิดเฉพาะธนาคารกลางที่เป็นเพื่อนกันเท่านั้น วันนี้ธนาคารกลางสหรัฐเปิดสิ่งที่เรียกว่า FIMA หรือ Foreign and International Monitary Authorities Repo Facility ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ให้ธนาคารกลางของประเทศใดๆ บนโลกนี้ สามารถนำพันธบัตรมาค้ำประกันเพื่อขอกู้ดอลล่าร์ออกไปก่อนได้ เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางการเข้าถึงดอลล่าร์ให้กับทั้งโลกแล้วเรียบร้อย 

.

เมื่อธนาคารกลางสหรัฐเปิดไฟเขียวบนการจัดหาดอลล่าร์ขนาดนี้ และนักลงทุนจำนวนมากคาดหวังว่านโยบายทางการเงินของ Fed จะผ่อนคลายลง จึงส่งผลให้ดอลล่าร์ค่อยๆ อ่อนค่าลงอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ดังนั้น การอ่อนค่าของดอลล่าร์ในวันนี้จึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการที่ไม่มีใครต้องการดอลล่าร์ แต่เกี่ยวกับตลาด และความพยายามในการบริหารจัดการไม่ให้ดอลล่าร์มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องของ Fed 

.

กล่าวโดยสรุปคือ การจะมาแทนที่ดอลล่าร์โดยใครก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น การลงทุนบนธีม De-Dollarization ควรมีความระมัดระวัง และควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละตัวให้ชัดเจน ว่าถูกเคลื่อนที่ด้วยธีมนี้จริงๆ หรือเปล่า 

.

แน่นอน เมื่อมองไปในอนาคต การใช้ดอลล่าร์มีแนวโน้มที่จะลดลงอยู่แล้ว การลงทุนในธีม De-Dollarization ควรลงแต่พอดี เป็นการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงในระยะยาว มากกว่าการลงทุนเพื่อหวังสร้างผลกำไรในระยะสั้น

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top