
ช่วงเวลานี้ เรื่องที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกมากที่สุด และส่งผลถึงตลาดหุ้น รวมไปถึงราคาทรัพย์สินอื่นๆ ที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องเพดานหนี้สหรัฐที่จะต้องถูกยกขึ้นภายในปลายเดือนพฤษภาคมถึงช่วงต้นมิถุนายนนี้ ก่อนที่เงินสดของสหรัฐจะเกลี้ยงคลังและไม่สามารถใช้จ่ายอะไรได้อีก
ล่าสุด จากบัญชีเงินสดของกระทรวงการคลัง (TGA – Treasury General Account) เหลือเงินอยู่ทั้งหมดประมาณ 166,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

Cr : https://fred.stlouisfed.org/series/WTREGEN
ซึ่งจากการคำนวณและจากการให้สัมภาษณ์ของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบว่าหากเพดานหนี้ไม่ถูกยกขึ้นเพื่อเปิดทางให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรใหม่ได้ เงินในบัญชีจะหมดลงในช่วงราวๆ วันที่ 1-9 มิถุนายน 2023
แม้ว่าทุกคนในตลาดจะคิดว่าสุดท้ายเพดานหนี้ก็จะต้องถูกยกขึ้นอยู่ดี แต่มันก็มีความไม่แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ถูกยกขึ้นจนก่อให้เกิดสภาวะที่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เช่น ค่าจ้างต่างๆ เงินเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ความเป็นไปได้จะน้อยแค่ไหน แต่หากมันเกิดขึ้น ผลกระทบของมันจะรุนแรงมากที่สุด รัฐบาลสหรัฐจะถูกบังคับให้เลือกจ่ายเงินออกไปในสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมภาครัฐ และไม่สามารถชำระเงินที่ถูกเรียกเก็บในส่วนอื่นๆ ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ต่อให้สหรัฐไม่ผิดนัดชำระหนี้บนพันธบัตร แต่เมื่อเงินที่จะต้องถูกจ่ายจากภาครัฐถูกแช่แข็ง การแลกเปลี่ยนซื้อขายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐก็จะถูกแช่แข็งตามไปด้วย การใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่อาจไม่ได้รับเงินเดือนก็จะชะลอตัวลง เงินประกัน เงินบำนาญ เงินช่วยเหลือด้านสุขภาพ จะมีความล่าช้า และทั้งหมดทำให้สถานการณ์ของสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็น รุนแรงกว่าที่ควรจะเกิด ทั้งนี้ DBRS Morningstar บริษัทจัดลำดับเครดิตเรตติ้งชื่อดังประมาณการว่าหากเพดานหนี้ไม่ถูกยกขึ้น การใช้จ่ายของภาครัฐจะถูกตัดลงประมาณ 30% ของทั้งหมด ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบบนเศรษฐกิจจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดจะเทขายออกไปก่อน เพราะแม้ความน่าจะเป็นในการเกิดเหตุการณ์นี้จะต่ำ แต่ผลกระทบนั้นรุนแรงเกินกว่าจะรับมือได้ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากตัดสินใจถอยออกมานอกฉากก่อน จนกว่าจะเป็นความแน่นอนแล้วจึงกลับเข้าไปใหม่
ดังนั้น ตราบใดที่การต่อรองเรื่องเพดานหนี้ยังไม่สิ้นสุด ตลาดหุ้นก็จะยังผันผวนต่อไปตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือนโยบายการขึ้นอัตราของ Fed ในสถานการณ์การยกเพดานหนี้ที่ยังไม่แน่นอน ถ้าหากตัวเลขการใช้จ่ายที่ประมาณการเอาไว้เป็นจริง นั่นหมายความว่า ก่อนการประชุม Fed ในวันที่ 13-14 มิถุนายน การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพดานหนี้ควรจะมีความชัดเจนเพียงพอที่จะรู้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐจะมีปัญหาหรือไม่ ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ Fed ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องเพดานหนี้ มักจะได้รับคำตอบว่าเพดานหนี้เป็นเรื่องของนโยบายการคลัง ไม่เกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ Fed ดูแล อย่างไรก็ตาม หากการยกเพดานหนี้จบด้วยดี จะไม่ต้องกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอันสืบเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงและคุณภาพของพันธบัตรสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) ที่แย่ลง แต่ถ้าเรื่องเพดานหนี้ไม่จบ มีโอกาสสูงมากที่ Fed จะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐด้วยนโยบายการเงิน
แต่ถ้าดูจากตลาดพันธบัตรในช่วงเวลานี้พบว่า มีความกังวลค่อนข้างสูงและมีการขายพันธบัตรออกมาอยู่ตลอด ดันอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น สะท้อนความมั่นใจที่ลดลงของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงระหว่างวันที่มีความเสี่ยงว่ารัฐบาลสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ ยิ่งถูกเทขายและดันอัตราดอกเบี้ยให้สูงผิดปกติ
รูปด้านล่างคืออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุไถ่ถอนในวันที่ 6 มิถุนายน 2023 ที่มีการเทขายที่ผิดปกติจนดันอัตราดอกเบี้ยไปถึงมากกว่า 7%

ราคาทรัพย์สินที่น่าสนใจในตอนนี้คือ ทอง และคริปโตเคอเรนซี่ โดยปกติแล้ว หากการยกเพดานหนี้มีปัญหา เงินควรจะไหลจากดอลล่าร์กลับไปหาทองคำและคริปโตเคอเรนซี่ในฐานะ Hard Asset ที่ปลอดภัยกว่าการถือดอลล่าร์ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลานี้ ทองและคริปโตก็ถูกเทขายเช่นเดียวกัน และเราก็ได้เห็นว่าดอลล่าร์ในเวลานี้แข็งค่าขึ้นในขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ ล้วนถูกเทขาย
สิ่งที่พอจะอนุมานได้คือ นักลงทุนยังคงรู้สึกปลอดภัยกับการถือดอลล่าร์มากกว่าสินทรัพย์ปลอดภัยตัวอื่นๆ ทำให้เงินจากการเทขายหุ้นและพันธบัตรยังคงถูกเก็บอยู่ในรูปแบบของดอลล่าร์มากกว่ารูปแบบอื่นๆ และเพราะการเทขายหุ้นและพันธบัตรจึงทำให้ความต้องการดอลล่าร์พุ่งสูงขึ้นจนกดดันให้เกิดการขายทองคำและคริปโตเพื่อเอาดอลล่าร์ เป็นการบ่งบอกว่าสภาวะของสภาพคล่องบนดอลล่าร์ยังคงมีความสำคัญต่อราคาทั้งทองคำและคริปโตเคอเรนซี่เป็นอย่างมาก