Blackbox4.0

[27.02.2023] Global Market Diary : EP6 // บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ปี 2008 ถึงความเสี่ยงในปี 2023

วิกฤติในปี 2008 ที่สหรัฐอเมริกา คนไทยรู้จักกันในนามของ Hamburger Crisis บ้าง หรือ Subprime Crisis 

Hamburger Crisis มาจากจุดเริ่มต้นของวิกฤติมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคแฮมเบอร์เกอร์เป็นวัฒนธรรม ส่วน Subprime Crisis มาจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นตัวต้นเหตุของการเกิดวิกฤติ นั่นคือ MBS หรือพันธบัตรสินเชื่อบ้านนั่นเอง 

อย่างไรก็ดี อีกชื่อหนึ่งที่เป็นตัวแทนของเหตุการณ์ในปี 2008 และคนใน Wallstreet ให้ความคุ้นเคยและใช้กันในวงกว้างมากกว่าคือคำว่า GFC หรือ Global Financial Crisis 

ก่อนอื่นเลย เรามาย้อนเวลากลับไปยังช่วง GFC อีกครั้ง ว่าอะไรที่เป็น trigger สำคัญ ที่ทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้น แน่นอนว่าเหตุผลบน Fundamental พื้นฐานนั้นหลายคนรู้ดีกันอยู่แล้ว แต่ trigger ที่เป็นปุ่มอันตราย ที่ทำให้ตลาดล้มอย่างรุนแรงจนกระทั่ง Fed ต้องเข้ามาแทรกแซงคืออะไร ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้ เพื่อโยงมาที่เหตุการณ์ปัจจุบันในปี 2023 ค่ะ 

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง GFC ที่สำคัญ คือการที่ตลาดบ้านของสหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหา บนความแพร่หลายของการออก Mortgage-Backed Security (MBS) หรือพันธบัตรสินเชื่อบ้าน ซึ่ง MBS เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีเครดิตเรทติ้งในเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ หลักการของ MBS คือการนำสินเชื่อ ซึ่งธนาคารเป็นผู้ให้สินเชื่อกับผู้ขอกู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ตลาดบ้านถือว่าเป็นตลาดที่มีความน่าเชื่อถืออย่างมาก ตลาดมีความเชื่อว่าสินเชื่อบ้านไม่มีทางเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น การเข้าไปลงทุนในสินเชื่อบ้านผ่านพันธบัตรสินเชื่อบ้านจึงเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดบ้านของสหรัฐเริ่มหดตัว สินเชื่อเริ่มมีสัญญาณของปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นคือความน่าเชื่อถือของ MBS ลดลง นักลงทุนต้องการขาย MBS เพราะไม่ต้องการถือความเสี่ยงในการลงทุนบนสินเชื่อบ้านอีกต่อไป 

หากจะลงลึกไปอีก ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกหลายตัวที่ออกมาเพื่อใช้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ MBS สามารถทำได้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้กับ MBS อย่างไรก็ดี สามารถพูดได้ว่า หากมูลค่าของ MBS ไม่ลดลงเพราะความเสี่ยงในสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ก็จะไม่เกิดปัญหาเป็นโดมิโน่ตามมา

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดข้างบน คือเรื่องราวบน fundamental หรือพื้นฐานทางเศรษฐกิจจริงๆ ที่เกิดขึ้น จนส่งผลต่อราคาของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในที่นี้คือ MBS  

เมื่อเห็นภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว ทีนี้เราลองมาดูในฟากของตลาดกัน ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะปุ่มอันตรายนั้นถูกกดจากตลาดการเงิน มากกว่าจากเศรษฐกิจจริงๆ จนทำให้เกิดสถานการณ์ที่สถาบันทางการเงินอย่าง Bear Stearns และ Lehman Brothers ต้องล้มละลาย จนกระทั่งทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ด้วยการที่ขนาดเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงอย่างรุนแรง และคนอเมริกันต้องตกงานกันอย่างมากมายในช่วงปี 2008 

ตามปกติแล้ว การบริหารเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ใช้กำหนดปริมาณเงินที่ใช้เพื่อลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ว่าสามารถลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งนั้นคือ ‘ความเสี่ยง’  ในยามที่ความเสี่ยงต่ำ นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ได้มาก ทำให้ในช่วงเวลาปกติของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ตลาดมีความมั่นใจอย่างมากว่าความเสี่ยงในช่วงเวลานั้นต่ำ จะเป็นช่วงเวลาที่ขนาดการลงทุนขยายตัวและโป่งพอง เป็นช่วงเวลาที่เงินสดถูกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรที่มีเครดิตเรตติ้งขนาดไหน ก็สามารถได้รับความสนใจในการลงทุนได้หมด โดยเฉพาะหากการลงทุนนั้นสามารถได้มาซึ่งผลตอบแทนที่นักลงทุนพึงพอใจ รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อย่างหุ้น ทองคำ หรือคริปโต ในช่วงที่ตลาดเสี่ยงต่ำมากๆ ราคาทรัพย์สินเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะเป็นขาขึ้นทั้งหมด 

(โน้ตว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความไวต่อความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้นให้ศึกษาพื้นฐานว่าราคาสินทรัพย์แต่ละอย่างถูกขับดันด้วยอะไร) 

ดังนั้น เมื่อตัวแปรสำคัญคือความเสี่ยง ในยามที่ตลาดเริ่มได้กลิ่นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ คือความเสี่ยงบนสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดไม่สบายใจที่จะลงทุนในตลาดนี้อีกต่อไป 

เราต้องเข้าใจว่า ตลาดการเงินนั้นเป็นตลาดที่ forward looking มากๆ ดังนั้น ในวันที่ตลาดการเงินเริ่มเห็นความเสี่ยงที่มากขึ้นและต้องลดการถือครองทรัพย์สินอย่าง MBS ลง คือวันที่เศรษฐกิจจริงๆ อาจจะยังไม่ได้ประสบกับปัญหาหนักขนาดนั้น แต่ตลาดมองไปข้างหน้าว่า ปัญหากำลังจะมาในอนาคต 

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ บนราคาของ MBS ยิ่งตลาดเห็นความเสี่ยงมากเท่าไหร่ MBS ก็ยิ่งถูกเทขายมากเท่านั้น แปลว่าราคาของ MBS นั้นลดลงตามลำดับ 

การลดลงของราคา MBS เป็นลูกโซ่ไปต่อใน 3 ตลาดใหญ่ๆ คือ

  1. กองทุนที่ลงทุนบน MBS โดยเสนอผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน เมื่อ MBS ราคาลดลง มูลค่าของกองทุนก็ลดลงไปด้วย เมื่อมูลค่าลดลง นักลงทุนเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การถูกเทขายก็เพิ่มขึ้นตามมา และการเทขายกองทุนที่ลงทุนบน MBS ก็เท่ากับเทขาย MBS ด้วย ดังนั้นเรียกว่าซวย 2 เด้ง ก็คือซวยทั้งกองทุนที่ไปลงทุนบน MBS และซวยทั้งนักลงทุนที่ลงทุนบน MBS เพราะมันถูกเทขายมาจากสถาบันทางการเงินที่ซื้อ MBS ไปลงทุน 
  1. ผู้ที่ออก Credit Default Swap (CDS) ข้อมูลจาก investopedia บอกว่า ผู้ที่ออก CDS  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงของ MBS ทำหน้าที่เหมือนเป็นประกันตัวหนึ่ง คือเมื่อใดก็ตาม MBS เกิดการ default หรือผิดนัดชำระ ผู้ที่ถือ CDS จะได้เงินจากคู่สัญญา ดังนั้น การที่ MBS พังลงเพราะการเทขายของนักลงทุน ทำให้บริษัทคู่สัญญา อันรวมไปถึง AIG, Bear Stearns และ Lehman Brothers ได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะต้องจ่ายเงินให้กับคู่สัญญาที่ต้องการเคลมเงินจากการถือ CDS 

(cr : https://www.investopedia.com/terms/c/creditdefaultswap.asp#:~:text=Credit%20default%20swaps%20were%20issued,backed%20securities%20(MBS)%20defaulted.)

  1. อีกตลาดหลักที่ถูกกระทบคือตลาดสินเชื่อ MBS ถือเป็นพันธบัตรที่มีเครดิตเรทติ้งในเกณฑ์ที่ได้รับความเชื่อถือ ดังนั้น การใช้ MBS เพื่อเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันในการขอกู้ยืมเงินสดจึงเป็นเรื่องปกติในตลาด ซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดในสหรัฐ แต่รวมไปถึงนอกสหรัฐด้วย ดังนั้น เมื่อ MBS ถูกเทขาย ราคาลดลง จึงส่งผลต่อความสามารถในการกู้ยืมเงินตามมา เราจึงสามารถพูดได้ว่า การที่ MBS ราคาลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงกับสภาพคล่องของดอลล่าร์บนตลาดสินเชื่อ 

เมื่อเราพิจารณาถึงปาร์ตี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สภาพคล่องของดอลล่าร์หายไปอย่างมหาศาล ตั้งแต่การล่มสลายของกองทุน ทำให้นักลงทุนสูญเสียเงินจากการลงทุน การลดลงของมูลค่า MBS จากการเทขาย อันส่งผลกระทบถึงตลาดเครดิตที่ทำให้ความสามารถในการกู้ยืมเงินลดลง รวมไปถึงการที่บริษัทผู้ออก CDS จะต้องชดใช้เงินจำนวนมหาศาลอันสืบเนื่องจากการล้มของ MBS  

และจากการสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมการเงิน ก็ส่งผลกระทบมาถึงนักลงทุนรายย่อยในวงกว้าง และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือเกิดการล้มละลายของสถาบันทางการเงินและธนาคารของสหรัฐ 

ทั้งหมด สืบเนื่องมาจาก ‘ความเสี่ยง’ ที่เพิ่มมากขึ้นในตลาด ส่งผลต่อความต้องการในการถือครอง ‘เงินสด’ ทำให้เกิดการ ‘ขาย’ สินทรัพย์เสียงออกมามหาศาล ซึ่งเราก็จะเห็นว่านอกจากตลาด MBS จะเกิดปัญหาแล้ว หุ้นก็ถูกเทขายอย่างหนักเช่นกัน ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงของการต้องลดความเสี่ยงในช่วงเวลานั้น ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ เงินสดจะเป็นที่ๆ ทุกคนวิ่งเข้าไปหา ความต้องการเงินสดที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เงินสดขาดแคลน เมื่อเงินสดขาดแคลน ก็ต้องเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อไปอีก เป็นวงจรอุบาถท์ ที่จะไม่หยุดหาก Fed ไม่เข้ามาแทรกแซงในช่วงเวลานั้นด้วยการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินด้วยการทำ QE เป็นครั้งแรก โดยเข้าซื้อทั้งพันธบัตรรัฐบาลและ MBS ทำให้ MBS กลับมาซื้อขายได้ในราคาปกติอีกครั้ง 

ในปี 2023 นี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ‘สภาพคล่องทางการเงินของดอลล่าร์’ เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ช่วยตลาดในตอนนี้คือความมั่นใจของนักลงทุนว่า Fed จะต้องเข้ามาช่วยอุ้มตลาดในยามที่ตลาดมีปัญหา ทำให้ระดับของความเสี่ยงในตลาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะตลาดเครดิต ที่เคยมีประสบการณ์ว่า Fed เคยเข้าไปช่วยเหลือในปี 2020 โดยการเข้าซื้อหุ้นกู้บริษัทในทุกระดับเครดิตเรตติ้ง ทั้งแต่ corperate bond ไปถึง junk bond  

คำถามที่น่าสนใจคือ ตลาดจะเชื่อมั่นในการช่วยเหลือของ Fed ได้ถึงจุดไหน และฟางเส้นสุดท้ายจะไปโป๊ะที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวใด 

นี่เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครตอบได้ในช่วงเวลานี้ค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top