วันนี้เป็นอีกวันที่รู้สึกว่าได้เรียนรู้เรื่องใหม่เกี่ยวกับเครื่องมือที่ Fed ใช้เพื่อดูแลความมั่นคงของสถานภาพธนาคาร นั่นคือ Discount Window และ Bank Term Funding Program และพบว่าแม้แต่เราเองก็มีความเข้าใจ 2 เครื่องมือนี้ผิดไปมาก วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าเข้าใจผิดไปอย่างไร และเราควรทำความเข้าใจกับสภาวะของตลาดอย่างไรค่ะ
วันนี้ทุกคนหลังจากเห็นตัวเลขของ Balance Sheet ของ Fed ที่เพิ่มขึ้นมา 4 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ต่างก็ร้องออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือการทำ QE ครั้งใหม่ของ Fed โดยเฉพาะเงินในส่วนที่ Fed ให้การช่วยเหลือธนาคารโดยเปิดช่องทางการเข้าถึงสภาพคล่องทางการเงินโดยตรงกับ Fed หรือที่ถูกเรียกว่า Fed เปิด Discount Window ให้กับเหล่าธนาคาร

แต่มันจะเป็น QE และให้ผลลัพท์ที่เหมือนกัน QE หรือไม่ เราลองมาดูความแตกต่างระหว่างวิธีการทำ QE ซึ่ง Fed ทำการกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรสินเชื่อบ้านออกไปจากตลาด กับวิธีการให้กู้บนโปรแกรม Discount Window และ Bank Term Funding Program (BTFP) กันค่ะ
QE หรือ โปรแกรมการเข้าซื้อทรัพย์สินจากตลาดออกไปของ Fed
QE เป็นเครื่องมือที่ Fed ใช้เพื่อจุดประสงค์ผ่อนคลายทางการเงินของเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยการเข้าซื้อทรัพย์สินในตลาด ในช่วงโควิด Fed ซื้อทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรสินเชื่อบ้าน ลามไปจนถึงหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนโดยไม่สนเรทติ้ง
แน่นอน ผลลัพธ์บน Balance Sheet เราจะเห็นว่า Balance Sheet ของ Fed พองตัวขึ้นเพราะการถือครองทรัพย์สินที่เพิ่มมากขึ้นของ Fed และเมื่อเรามาดูกระแสเงิน ผลลัพธ์คือเราได้เห็นว่าเหล่าสถาบันทางการเงินและธนาคารมีเงินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อ Fed ทำ QE ตลาดจะอยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยเงินสดจากเงินที่ Fed กว้านซื้อทรัพย์สิน แต่จะมีสินทรัพย์เหลืออยู่ในตลาดน้อยลงจนถึงขั้นขาดแคลน เมื่อเป็นแบบนี้ ผลกระทบถัดมาก็คือเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นเพราะการมีอยู่ของเงินสดที่มากเกินไป ประกอบกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ จึงทำให้ราคาทรัพย์สินและการคำนวนเรื่องความเสี่ยงเปลี่ยนไป ช่วงการทำ QE จึงเป็นช่วงที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดรื่นเริงที่สุด เราจะเห็นได้จากหลัง Fed ทำ QE ในปี 2020 สินทรัพย์เสี่ยงต่างพากันพาเหรดราคาขึ้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการที่มีเงินใหม่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบ ผ่านโปรแกรมการซื้อทรัพย์สินระยะยาว
Discount Window และ Banking Term Funding Program (BTFP)
ทีนี้มาดูเครื่องมือที่ Fed งัดขึ้นมาใช้เพื่อปลอบขวัญอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารบ้าง เครื่องมือนี้ คือการเปิดหน้าต่างระหว่างสถาบันทางการเงินการธนาคารที่ต้องรับผิดชอบเงินฝากของประชาชน สามารถมาเอาสภาพคล่องกับ Fed ได้ ในช่วงที่สภาพคล่องบนระบบเศรษฐกิจมีปัญหา
ทั้งนี้ วิธีมาเอาสภาพคล่องกับ Fed คือการที่ Fed ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดนิดหน่อย รวมทั้งสถาบันและธนาคารจะต้องมีพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรสินเชื่อบ้านที่ออกโดยสถาบันที่รัฐรับรอง เหล่านี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อเอาเงินสดออกไป
วิธีการนี้ย่อมทำให้ Balance Sheet ของ Fed พองตัวเช่นกัน เพราะ Fed จะเก็บสินทรัพย์ค้ำประกันเหล่านี้เอาไว้ รอวันที่ผู้กู้ยืมเงินจะเอาเงินสดมาคืน แล้วเอาสินทรัพย์ค้ำประกันเหล่านี้กลับไป
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ระหว่าง QE และการปล่อยกู้ของ Fed ไม่ว่าจะเป็นปล่อยกู้ผ่าน Discount Window ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ระยะสั้น หรือปล่อยกู้ผ่าน BTFP ซึ่งเป็นการให้กู้บนระยะเวลา 1 ปี ซึ่งยาวกว่าการใช้ Discount Window แต่ทั้ง 2 วิธีต่างก็เป็นวิธีการใช้พันธบัตรที่ Fed กำหนดมาเป็นทรัพย์สินค้ำประกัน เอาเงินสดออกไป แล้วมีดอกเบี้ยที่ราวๆ 4% +++ แล้วแต่การเคลื่อนที่ของอัตราดอกเบี้ยในแต่ละวัน
เมื่อเป็นการให้กู้ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แปลว่าธนาคารจะต้องนำพันธบัตรของตัวเองไปค้ำ แล้วเอาเงินสดออกมา แปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารนำพันธบัตรไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดและมีต้นทุนทางการเงิน ไม่ใช่การที่ Fed ได้พันธบัตรมาด้วยการเข้าไปซื้อขาด ธนาคารมีภาระที่จะต้องหาเงินไปคืน Fed ภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องมือนี้ไม่ใช่การผ่อนคลายทางการเงินทั้งระบบ แต่วัตถุประสงค์คือช่วยเหลือธนาคารให้หาสภาพคล่องได้จากทรัพย์สินที่ตนเองถืออยู่ เพราะปัญหาของธนาคารตอนนี้คือการที่ธนาคารไม่สามารถขายพันธบัตรในพอร์ตของตัวเองได้เนื่องจากปัญหาการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจากการขาย Fed จึงช่วยย่นระยะเวลาการได้มาซึ่งเงินของธนาคารที่ถือพันธบัตรต่างๆ
เพียงเท่านี้ ธนาคารก็สามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้จากการช่วยเหลือของ Fed และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ธนาคารก็หาเงินมาคืน Fed พร้อมดอกเบี้ย Fed จะมี Balance Sheet ที่หดลง ส่วนธนาคารก็ถือพันธบัตรต่อไปจนกระทั่งครบกำหนดอายุที่จะไถ่ถอน ธนาคารก็จะไม่ขาดทุนจากการถือพันธบัตรอีกต่อไป
เพราะเหตุนี้ การกู้ยืมเงินของธนาคารในช่วงเวลานี้จะไม่ใช่การกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเหมือนการทำ QE ที่ทุกคนต้องวิ่งหาสินทรัพย์เสี่ยงเพราะสินทรัพย์ปลอดภัยถูก Fed กว้านซื้อไปหมด การตุนเงินสดในช่วงเวลานี้เป็นการตุนเพื่อให้ธนาคารแข็งแรงขึ้น ไม่เจ็บจนเจ๊งเวลาที่ผู้คนพากันตบเท้ามาถอนเงินออก และพฤติกรรมของธนาคารในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะธนาคารเล็ก คือการสะสมเงินสดให้ได้มากที่สุด กู้ Fed ได้ก็กู้ เรียกเครดิตคืนได้ก็เรียก และแนวโน้มในการให้เงินกู้ของธนาคารก็มีแนวโน้มจะยากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลานี้
ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาที่ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจรากฐาน สถานการณ์นี้จัดว่าเป็นสถานการณ์ที่สร้างเงินฝืดมากกว่าเงินเฟ้อ ตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะผันผวนสูงขึ้นเพราะแม้ตลาดจะคิดว่าอีกไม่นาน Fed จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยจนส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงพาเหรดกันราคาขึ้น แต่เพราะความไม่แน่นอนที่มาจากการสื่อสารของ Fed และตลาดเองก็ไม่ได้มีเงินที่สร้างใหม่จาก Fed เข้ามาเก็งกำไรเพิ่ม ผลคือตลาดจะมีความอ่อนไหวและผันผวนหนักกว่าเดิม
ดังนั้น ใครคิดจะลงทุนช่วงนี้ ไม่ควรจะมั่นใจจนเกินไปว่า Fed จะกลับตัวเร็วๆ นี้ ให้เผื่อใจเอาไว้หน่อยว่าเราอาจจะได้เห็นวิกฤติบางอย่างที่หนักกว่านี้ ก่อนที่ Fed จะถูกบังคับให้กลับตัว