ในเวลานี้ ดูเหมือนพายุวิกฤติธนาคารลูกแรกจะผ่านไปแล้ว เนื่องจากปัญหาเบื้องต้นของธนาคาร คือปัญหาในเชิงของสภาพคล่องทางการเงิน เพราะธนาคารถือพันธบัตรที่มีมูลค่าลดลง ทำให้ธนาคารไม่ต้องการจะขายพันธบัตรเหล่านี้กลับออกมาเป็นเงินสด จึงจบลงตรงที่เมื่อประชาชนพากันแห่ถอนเงิน ธนาคารจึงมีเงินสดไม่เพียงพอ แต่ต่อให้ธนาคารจะขายสินทรัพย์เหล่านี้ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าธนาคารจะรอด เพราะสถานการณ์ที่ทำให้ธนาคารล้มที่แน่นอนที่สุด ก็คือสถานการณ์ของความตื่นกลัวจนนำไปสู่การแห่ถอนเงินของลูกค้านั่นเอง ท่ามกลางความกระท่อนกระแท่นของการพยายามจะอยู่รอดของธนาคารที่ไม่ใช่กลุ่ม G-SIPs (Global Systematically Important Banks) หรือธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก หลายธนาคารราคาหุ้นตกลงจนน่าใจหาย แต่หลังจากที่ผ่านมา 2 สัปดาห์ แล้วยังไม่เห็นว่ามีธนาคารใดที่ล้มหายตายจาก ตลาดก็เริ่มรู้สึกคลายกังวลลงบ้าง และการคลายกังวลนี้ส่งผลไปถึงมุมมองที่มีต่อพันธบัตรด้วย พันธบัตรอายุ 2 ปี ผันผวนอย่างหนัก โดยลงไปทำจุดต่ำสุดที่ราวๆ 3.6% ก่อนที่จะขึ้นมาที่ 4% ในปัจจุบัน และเมื่อเราไปดู Move Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความผันผวนของตลาดพันธบัตร ในช่วงตอนเหตุการณ์การล้มลงของ SVB นั่นเป็นช่วงที่ตลาดพันธบัตรผันผวนที่สุด นับเป็นความผันผวนที่มากที่สุดรองจากช่วงวิกฤติปี 2008 เลยทีเดียว ซึ่งโดยปกติแล้ว การผันผวนของตลาดพันธบัตรมักไม่ใช่สัญญาณที่ดีกับตลาด ในอดีต เราได้เห็นตลาดพันธบัตรผันผวนในช่วงวิกฤติ จะเป็นวิกฤติซัพไพรม์ก็ดี หรือจะเป็นวิกฤติจากโรคระบาดก็ดี ในยามที่พันธบัตรผันผวน ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบในทางลบเสมอ ในตอนนี้ ตลาดมีความคิดเห็นที่หลากหลายมาก...