Blackbox4.0

Market Talk  

01/06/22

หากจะให้สรุปสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มันคงสรุปได้สั้นๆ ว่า ปี 2022 นี้ เป็นปีที่ยากลำบากและเลวร้ายมากปีหนึ่งเลยทีเดียว สินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทตั้งแต่หุ้น โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ไปจนถึง #คริปโตเคอร์เรนซี่ ต่างก็ปรับตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่เงินสดในปีนี้กลับมี performance ที่ดี โดยเฉพาะ #ดอลล่าร์ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เป็น Save heaven  โดย Dollar index ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นมาทะลุ 100 และเงินในสกุลเงินอื่นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ ก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์จนหลายประเทศทนไม่ไหว ต้องขายพันธบัตรสหรัฐออกมาบ้าง หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้าง แล้วแต่นโยบายของแต่ละประเทศ 

เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายในมุมมองของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็ดี การอธิบายในมุมมองของเงินเฟ้อก็ดี หรืออธิบายในมุมมองของการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินและการคลังก็ดี แต่ไม่ว่าจะอธิบายในมุมไหน สุดท้าย ทุกมุมต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแกะไม่ออก 

ความจริงแล้ว ตลาดเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นปี และสัญญาณของ Fed ก็ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นปีแล้วเช่นกัน เนื่องจาก #เงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วง Q3-Q4 ในปีที่แล้ว ทำให้เป้าหมายของ Fed เปลี่ยนไป จากการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ กลายเป็นต้องมาจัดการกับตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ล่าสุด เดือนเมษายน ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.3 ท่ามกลางการให้สัญญาณล่วงหน้าว่า Fed จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก 0.5% ในการประชุมครั้งหน้า และสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้อีกหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ลงมาอยู่ในโซน 2% ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ Fed พอใจ 

ที่สำคัญ นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว Fed ยังจะเริ่มทำ #QT หรือลดปริมาณทรัพย์สินที่ถือไว้เดือนละ 95 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ทั้งนี้ ในช่วงแรก เพื่อไม่ให้ตลาดแตกตื่น Fed จะทดลองลดปริมาณทรัพย์สินเพียงครึ่งหนึ่ง หรือราวๆ 47.5 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ก่อน และหากตลาดรับไหว Fed ก็จะเดินหน้าลดมากขึ้นให้ถึงเป้าหมาย ที่เดือนละ 95 พันล้านเหรียญต่อเดือน 

จากนโยบายนี้ของ Fed รวมกับการดำเนินนโยบาย #Fiscal Policy หรือ #นโยบายทางการคลัง ที่เดินไปอย่างช้าๆ ทำให้โดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่เราเห็นคือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจนั้นตึงตัวมากขึ้น มิหนำซ้ำ จากเหตุการณ์ รัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้โลกเราเริ่มถูกพาไปในทิศทางที่ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก นั่นคือการค้าขาย มีการตั้งกำแพงมากขึ้น มีการกักตุนสินค้าเพิ่มมากขึ้น มีเงื่อนไขในการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนี่คือการเปลี่ยนแปลง จาก Globalization ไปสู่ De Globalization ทำให้ต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะราคาสูงขึ้นบนโครงสร้างทางการค้าที่เปลี่ยนไป และบนราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ย่อมทำให้มีความต้องการใช้เงินสดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ Financial Condition ยิ่งตึงมากขึ้นไปอีก 

สรุปแล้ว ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ระบบเงินตึงมากขึ้น และสภาพคล่องทางการเงินที่คล่องน้อยลงเรื่อยๆ ก็ทำให้เงินต้องเคลื่อนย้าย จากสินทรัพย์เสี่ยงมาก ออกมาที่สินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยลง ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงถูกกระทบมากที่สุด หุ้นปรับตัวลงแรง โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี รวมไปถึง #คริปโตเคอร์เรนซี่ ที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งราคามีความผันผวนโดยธรรมชาติ 

โดยสถานการณ์นี้ยังไม่เปลี่ยนไป แม้เงินเฟ้อจะอาจจะพี้คแล้ว แต่มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะลงน้อยกว่าที่คาดบนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลงน้อยกว่าที่คาด และ Fed ยังคงต้องเดินหน้าดำเนินนโยบายกดดันเศรษฐกิจต่อไป จนกว่าจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่ Fed พอใจ 

ผู้เขียน

Scroll to Top