สิ่งที่เกิดในช่วงนี้บนสภาวะการเงินโลก คือดอลล่าร์เริ่มอ่อนตัวลง Liquidity ไหลกลับเข้ามาในตลาดบ้างแล้วบนความหวังของการกลับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed
ข้อมูลที่ทำให้ตลาดคิดว่า Fed จะ Pivot ที่หมายถึงการ ‘กลับนโยบาย’ จากนโยบายแข็งกร้าวทางการเงิน กลายเป็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน คือตัวเลขการจ้างงานที่มีแนวโน้มจะแย่ลง และตัวเลขความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ น่าจะเป็นตัวเลขที่ทำให้ Fed ต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยรัวๆ ใหม่
นอกจากนั้น ในขณะนี้ ฟากกระทรวงการคลังสหรัฐเองก็ส่งสัญญาณออกมาว่ามีโอกาสที่กระทรวงการคลังจะทำกระบวนการ Treasury buy back ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรระยะสั้นออกมาแล้วนำมาซื้อพันธบัตรระยะยาว เมื่อมีพันธบัตรระยะสั้นออกมาในตลาด ก็น่าจะทำให้เงินของ Money Market Fund ที่อยู่กับ Fed ราวๆ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้กลับออกมาในตลาด
จากทั้ง 2 เหตุผลนี้ ทำให้ตลาดเริ่มเห็นแนวโน้มของ Liquidity ที่สดใสมากขึ้น ส่งผลให้ดอลล่าร์อ่อนตัว อัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับลง และหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรตระหนักมากๆ ว่าการไหลกลับเข้าของ Liquidity รอบนี้มาบนความคาดหวังเกี่ยวกับ Fed Policy และ Fiscal Policy ซึ่งเป็นปัจจัยเชิง Macro ล้วนๆ
ตลาดจะยังขึ้นต่อไป ตราบใดที่สิ่งที่ตลาดคิดก่อนล่วงหน้านั้นถูกต้อง
แต่ความเสี่ยงอยู่ตรงไหน ?
ให้คิดเผื่อเอาไว้ว่า หาก Fed แค่ ‘ชะลอ’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย และประกอบกับหากมีความช่วยเหลือจากการทำ Treasury Buy Back ที่สนับสนุนตลาดทุนตลาดเงิน ทำให้ Fed สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึงเป้าหมายซึ่งในขณะนี้ ตลาดมองว่าเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยอาจจะอยู่ราวๆ 5%
ในขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.75-4% การขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ถึง 5% Fed ไม่จำเป็นต้องขึ้นแบบเร่งรีบอีก Fed สามารถขึ้น 0.5% ได้อีก 2 ครั้ง หรือแม้แต่ 0.25% ไปอีก 4 ครั้ง ก็ได้เช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่ Fed จะทำ อาจไม่ใช่การกลับนโยบาย หรือ Pivot อย่างที่ใครๆ คิด Fed สามารถจะแค่ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากนั้นก็คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 4.5 – 5% ได้
หาก Fed คงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่แถว 4.5-5% ให้อยู่นานๆ นี่จะไม่ใช่ข่าวดีต่อเศรษฐกิจ แต่จะเป็นข่าวร้ายต่อเศรษฐกิจในปี 2023 ที่จะกลับมากระทบตลาด
ดังนั้น ในระยะสั้น เป็นไปได้มากว่าตลาดจะกลายเป็น Bull Run ในระยะหนึ่ง บน Liquidity Expectation ที่จะดึงเอาเงินที่อยู่นิ่งๆ กลับมาในตลาด
โดยสรุปแล้ว ตลาดจะกลายเป็นขาขึ้นตราบเท่าที่ตลาดคิดว่า Fed จะกลับนโยบาย และจะเป็นขาขึ้นจริงๆ หาก Fed กลับนโยบาย แต่ในขณะเดียวกัน หาก Fed ตั้งใจจะคงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่า 4% แบบนี้ไปนานๆ จนกระทบตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นจะกลับไปสะท้อนความผิดหวังของตลาดกลับไปที่ราคาของหุ้น