Blackbox4.0

[ 22.02.2023]Global Market Diary : EP4 // เงินจะปั้นออกมาจากไหนในปี 2023 เมื่อ Fed และ ECB ต่างก็ไม่ไปต่อกับการปั๊มเงินแล้ว 

เป็นที่รู้กันดีว่าตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ก็ทำการชะลอการอัดฉีดเงินเข้ามาในตลาดด้วยวิธีการกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำและทำ QE ก่อนจะเปลี่ยนเกียร์นโยบาย จากนโยบายผ่อนคลายเข้าสู่นโยบายแข็งกร้าวเพื่อสู้กับเงินเฟ้อด้วยนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการถือครองทรัพย์สิน ทำให้ปริมาณดอลล่าร์ในตลาดลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2022 ด้วยสาเหตุดังนี้ 

1 อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐถูกปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ได้ 

ผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยย่อมกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ดอลล่าร์จึงถูกใช้เพื่อชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งโลก ทำให้สภาพคล่องบนดอลล่าร์ลดลง และเมื่อมีความต้องการใช้ดอลล่าร์มากขึ้น จึงทำให้สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง รวมไปถึงสินทรัพย์เสี่ยง ถูกเทขายออกมาเพื่อเอาดอลล่าร์ไปใช้ ผลที่ตามมาคือดอลล่าร์มีน้อยลงและแข็งค่ามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์เสี่ยงทั้งตลาด ตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาลไปจนถึงหุ้นและคริปโต ถูกเทขาย 

2. ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาตลอด และพี้คตอนช่วงต้นปี 2022 อันสืบเนื่องจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน 

การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น และน้ำมันถูกซื้อขายด้วยดอลล่าร์ ทำให้มีความต้องการใช้ดอลล่าร์เพิ่มขึ้นทั่วโลกอัตโนมัติ แม้จะบอกว่ารัสเซียมีการขายน้ำมันด้วยสกุลเงินอื่นให้ประเทศอื่นๆ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศที่ซื้อขายน้ำมันด้วยดอลล่าร์นั้นมีมากกว่าเยอะมากๆ โดยเฉพาะประเทศฟากที่พัฒนาแล้ว ต่างก็ต้องใช้ดอลล่าร์ในการซื้อขายพลังงานด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ทำให้เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น ความต้องการดอลล่าร์มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ดอลล่าร์ในตลาดขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นไปอีก 

3. ความผันผวนที่สูง ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อถือสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง 

สถานการณ์นี้ หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘Risk off’ นั่นคือสถานการณ์ที่ตลาดรับรู้ถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในตลาดในอนาคต ความไม่แน่นอนแปลได้อีกอย่างว่าความเสี่ยง และเมื่อเสี่ยงมาก ก็ย่อมก่อให้เกิดความผันผวนที่สูง เมื่อความผันผวนสูง พอร์ตการลงทุนก็ไม่สามารถถือสินทรัพย์เสี่ยงได้มากเหมือนเดิม 

ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกต่างก็ลงทุนในตลาดและมีการควบคุมความเสี่ยงที่ชัดเจน ในยามที่ตลาดมีความเสี่ยงต่ำ ความผันผวนน้อย ก็สามารถลงทุนบนสินทรัพย์เสี่ยงในจำนวนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากตลาดมีความเสี่ยงสูง ความผันผวนสูง การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็ย่อมต้องลดลงเพื่อทำให้พอร์ตการลงทุนมีความสามารถที่จะต้านทานคลื่นลมในยามที่ตลาดมีความผันผวนสูงได้ 

เพราะเหตุนี้ ในช่วงที่ทั้งตลาดต่างก็มองว่า Fed กำลังดำเนินนโยบายเพื่อทำร้ายเศรษฐกิจและตลาด ทุกคนจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงมากเกินไปได้ จำต้องลดปริมาณสินทรัพย์เสี่ยงลงและกลับมาถือสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง อันได้แก่ เงินสด และ Money Market Fund 

หลายคนอาจไม่คุ้นกับคำว่า Money Market Fund (MMF) แต่แท้ที่จริงแล้วหลายคนน่าจะเคยไปธนาคารและถูกธนาคารขายผลิตภัณฑ์นี้มาก่อน นั่นคือผลิตภัณฑ์ที่เปิดกองทุน แต่ให้ระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับออมทรัพย์ และให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งที่บอกว่าความเสี่ยงมากกว่าออมทรัพย์นั้นก็เพราะเวลาที่ขายกองทุน จะต้องใช้เวลา 1-2 วัน แล้วแต่นโยบายของกองทุน เพื่อเปลี่ยนหน่วยลงทุนนั้นให้เป็นเงินสด ไม่เหมือนออมทรัพย์ที่สามารถถอนออกมาตอนไหนก็ได้ ทำให้ความเสี่ยงเชิงสภาพคล่องของ (MMF) สูงกว่าออมทรัพย์ แต่ก็ยังนับว่าเป็นกองทุนที่มีความปลอดภัยสูงมาก กลายเป็นที่พักเงินของตลาดไปโดยปริยาย 

ทั้งนี้ MMF จะลงทุนบนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปี รวมไปถึงเงินฝาก เป็นต้น 

ดังนั้น ในช่วงปี 2022 ทุกคนจึงได้เห็นว่ามีความต้องการดอลล่าร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งพันธบัตร หุ้น ทองคำ คริปโต ถูกเทขายออกมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ความต้องการดอลล่าร์เพิ่มสูงขึ้น และเราก็ได้เห็นว่ามีความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นจากการที่เงินเริ่มมากองกันอยู่ที่ MMF จน Fed ต้องแก้ปัญหาโดยการทำ Reverse Repurchasing Agreement โดยให้สถาบันทางการเงินนำเงินมาให้ Fed กู้ และ Fed ก็เอาพันธบัตรไปค้ำประกันกับสถาบันทางการเงิน โดย Fed ให้ผลตอบแทนกับสถาบันทางการเงิน ซึ่งตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ Fed ให้ในช่วงสิ้นปี 2022 คือ 3.35% 

หากจะพูดให้เข้าใจง่ายมากขึ้นไปอีกก็คือ ทุกวันนี้ สถาบันทางการเงินที่มีเงินสดในมืออยู่เยอะเนื่องจากความต้องการลงทุนบน MMF ที่เพิ่มสูงขึ้น ได้นำเงินไปฝากไว้กับ Fed และได้รับดอกเบี้ยจาก Fed 3.35% โดยไร้ซึ่งความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น

นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมตั้งแต่ความเสี่ยงในตลาดเริ่มเพิ่มขึ้น เงินจึงไปกองอยู่กับ Fed มากขึ้นจนไปพี้คที่แถวๆ 2.5 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา 


อย่างไรก็ดี พอเริ่มเข้าไตรมาส 4 ปี 2022 ปรากฏว่าสภาพคล่องทางการเงินกลับเริ่มดีขึ้น สินทรัพย์เสี่ยงเริ่มกลับมาราคาขึ้นอีกครั้ง นั่นเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐดึงเงินจากบัญชีกระแสเงินสดที่อยู่กับ Fed มาใช้จ่าย จากราวๆ 950 billion ลงมาเหลือต่ำสุดที่ราวๆ 340 billion 

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่ตลาดมีความคาดหวังว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเพราะอัตราเงินเฟ้อมีทีท่าจะลดลงตามที่ Fed ต้องการ ดังนั้น บนความคาดหวังว่านโยบายทางการเงินจะผ่อนคลายลง ก็ทำให้ตลาดมองความเสี่ยงในอนาคตลดลงด้วย ส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง 

อีกเหตุผลสำคัญคือราคาพลังงานที่ลดลง ทำให้ความต้องการใช้ดอลล่าร์เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีลดลงไปด้วย ทำให้ปริมาณดอลล่าร์ในระบบตึงน้อยลงสืบเนื่องจากความต้องการใช้ดอลล่าร์เพื่อซื้อสินค้าลดน้อยลง 

และทั้งหมดนั้นทำให้ดอลล่าร์อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว 

รวมทั้งเป็นคำถามมาถึงปี 2023 ว่า แล้วจากนี้ต่อไปล่ะ ในเมื่อ Fed ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายนโยบายอย่างที่ตลาดคิด และหลายคนเริ่มพูดถึงเรื่อง Fed จะคงดอกเบี้ยในระดับที่สูง ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าเดิม แล้ว Liquidity จะมาจากที่ไหนได้อีก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างไร 

ในเวลานี้ สภาพคล่องที่เราเห็นว่าถูกอัดฉีดเข้ามาไม่ได้มาจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งไม่ได้มาจากยุโรปด้วย สหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นที่ๆ ทำมาตรการทางการเงินแข็งกร้าวด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการถือครองทรัพย์สินเพื่อต้องการสู้กับเงินเฟ้อ ทั้ง Fed และ ECB (ธนาคารกลางยุโรป) ต่างก็พูดชัดเจนว่าต้องการต่อสู้กับเงินเฟ้อ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ธนาคารกลางทั่วโลกจะทำตาม เพราะญี่ปุ่นไม่เคยใช้นโยบายทางการเงินที่แข็งกร้าว ตรงข้าม กลับทำนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นไปอีกด้วยการควบคุมอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ให้อยู่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต้องการ นั่นคือที่ 0.25 – 0.5 % ในปัจจุบัน แปลว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ต้องปั๊มเงินเยนมาเพื่อซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นในทุกราคาเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ในกรอบที่ต้องการ 

นอกจากนั้น ประเทศจีนที่เพิ่งยุตินโยบาย Zero covid และกลับมาเปิดประเทศ ก็เริ่มมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบด้วยการส่งเสริมการกู้ยืมต่างๆ เพื่อขยายการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งเมื่อประเทศจีนกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ย่อมทำให้เงินหยวนมีการขยายตัวตามเศรษฐกิจไปด้วย จึงสามารถพูดได้ว่าในขณะนี้ สภาพคล่องของโลกใบนี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว สืบเนื่องมาจากนโยบายของญี่ปุ่นและจีนเป็นหลัก 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าธนาคารกลาง และมีความคาดหมายว่าผู้ว่าคนต่อไปน่าจะไม่ดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายแบบสุดกู่เหมือนผู้ว่าคนเก่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามต่อไป ว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าคนถัดไปอย่างเป็นทางการ (ปัจจุบันมีแต่รายชื่อที่ยังไม่เป็นทางการ) 

เมื่อมองจากภาพทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเงินในขณะนี้ไหลมาจากทางฟากเอเชียมากกว่าสหรัฐและยุโรป หมายความว่าในเวลานี้ สินทรัพย์เสี่ยงในฟากของเอเชีย โดยเฉพาะทาง Emerging Market ได้รับประโยชน์มากกว่าทางฟากสหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องลุ้นคือในเมื่อสหรัฐต้องการดำเนินนโยบายแข็งกร้าวทางการเงิน สภาวะสภาพคล่องของดอลล่าร์จะถูกกระทบมากแค่ไหน ดอลล่าร์จะแข็งขึ้นไปเท่าไหร่ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลย ว่ายิ่งดอลล่าร์แข็งและราคาพันธบัตรถูกกระทบเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูง ย่อมกระทบต่อเงินทางฟากเอเชีย ทำให้เงินฟากเอเชียอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ ซึ่งหมายความว่าเมื่อเงินฟากเอเชียอ่อน ธนาคารกลางของฟากเอเชียก็ต้องใช้กำลังมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจฟากเอเชียเติบโต ซึ่งก็จะส่งผลต่อราคาหุ้นตามมา

และนี่คือภาพของสภาวะสภาพคล่องทางการเงินโลกที่จะกระทบต่อการลงทุนในปี 2023 ค่ะ

ผู้เขียน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top