ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งโลกของเราเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน หรือ Global Financial Crisis (GFC) ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ทั้งสิ้น ซึ่งจากตัวเลขเงินเฟ้อในอดีตพบว่า ไม่มีที่ใดเลยที่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% ได้อย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่แล้วอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ใต้ 2% ทำให้ธนาคารกลางมีเหตุผลที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากๆ ได้ โดยโฟกัสไปที่อัตราเงินเฟ้อที่ไม่ถึงเป้าหมายของธนาคารกลาง

Cr. https://www.macrotrends.net/countries/USA/united-states/inflation-rate-cpi
อัตราเงินเฟ้อที่สหรัฐ นับตั้งแต่เกิดเรื่องวิกฤติใหญ่ทางการเงิน หรือ Global Financial Crisis (GFC) ปี 2008-2009 เราจะเห็นได้ว่าแม้ธนาคารกลางพยายามอัดฉีดเงินด้วยวิธีสุดโต่ง (ในสมัยนั้น) อย่างการกดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำที่ 0% รวมถึงเข้าซื้อทรัพย์สินในตลาด ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรสินเชื่อบ้าน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อไปพี้คที่ 3.16% เท่านั้นในปี 2011 ก่อนจะลดลงมาใหม่ กว่าเงินเฟ้อจะเริ่มฟื้นอีกครั้งก็ปี 2017-2018 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดีพร้อมด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
อย่างไรก็ดี Fed พยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ทีละ 0.25% ตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปี 2018

Cr : https://www.forbes.com/advisor/investing/fed-funds-rate-history
ผลคือ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 เกิดปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดเครดิต รวมถึงการตกลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้น จึงทำให้ Fed ต้องหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2019 เล็กน้อย ก่อนที่ปี 2020 โลกเราจะเผชิญกับการมาของไวรัส Covid19 และ Fed ต้องลดอัตราดอกเบี้ยกลับมาที่ 0 ทันทีที่เศรษฐกิจถูกล็อคดาวน์ รวมทั้งต้องทำ QE เพื่ออุ้มทั้งตลาดให้ยังคงอยู่ต่อไปได้
จากนั้น อัตราเงินเฟ้อจึงค่อยปรับขึ้นอย่างรุนแรงอันสืบเนื่องจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างยิ่ง รวมกับนโยบายทางการคลัง ที่รัฐบาลมีการอัดฉีดเงินช่วยเหลือเศรษฐกิจแบบไม่อั้นในปี 2020 ทำให้ในที่สุด อัตราเงินเฟ้อก็กลับมาอย่างรุนแรงอีกครั้งในปี 2021 และ 2022
ดังนั้น หากวิเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เราจะพบว่า เงินเฟ้อจะไม่มีทางสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หากถูกขับดันจากนโยบายทางการเงินเท่านั้น แต่เงินเฟ้อจะเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไหร่ถูกขับดันโดยนโยบายทางการคลังโดยรัฐบาล ที่ถูกสนับสนุนด้วยเงินทุนจากธนาคารกลาง
และเงินเฟ้อจะยิ่งแย่มากขึ้นไปอีก หากกระบวนการอัดฉีดเงินนี้ ไปทำให้เกิดสภาวะความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการซื้อ (Demand) และความสามารถในการผลิต (Supply) ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนในช่วงโควิดที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นเพราะการช่วยเหลือจากภาครัฐของสหรัฐ ในขณะที่ฟากการผลิตไม่อาจทำได้เพราะสภาวะการล็อคดาวน์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึง supply chain ที่เกิดปัญหาทั่วโลก กระทบถึงความสามารถในการผลิตในวงกว้าง
ย้อนกลับมาที่ทฤษฎีการกลับมาของเงินเฟ้อ มีนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่าเงินเฟ้อรอบนี้จะไม่กลับไปที่ 2% อีก พวกเขาเชื่อว่าช่วงเวลาที่เงินเฟ้อต่ำนั้นได้หมดไปแล้ว นั่นเป็นเพราะ
1. ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น : ค่ายนี้เชื่อว่า Fed จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยง่ายๆ ตราบใดที่เงินเฟ้อยังไม่ลงไปถึง 2% ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยสูง ย่อมทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงไปด้วย เมื่อต้นทุนทางการเงินสูง ราคาสินค้าและบริการก็ย่อมจะสูงตาม ส่งผลถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูง
2. ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น : เนื่องจากเราอยู่ในสภาวะที่แรงงานลดน้อยลงอันสืบเนื่องจากประชากรโลกที่ลดลง เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยพฤติกรรมทางสังคมในขณะนี้ ส่งผลต่อการเกิดใหม่ของประชากรในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งต้นทุนแรงงานราคาถูกในอดีต ปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกอีกแล้ว ประชากรจีนถูกกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวในอดีต ทำให้ประชากรจีนขยายตัวเลยจุดพี้คไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงหดตัวลงนับจากนี้เป็นต้นไป
3. ต้นทุน Commodity มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น : ค่ายนี้เชื่อว่าระยะยาว ต้นทุน Commodity จะไม่กลับไปถูกเหมือนเดิมอีก ตัวอย่างง่ายๆ เช่นพลังงาน ถ้าดูเผินๆ ในเวลานี้เหมือนพลังงาน อย่างเช่นนำ้มันจะราคาถูกลง แต่อย่าลืมว่าเมื่อก่อน ราคาน้ำมันเคยลงไปต่ำกว่า 30 เหรียญต่อบาเรล แต่ในวันนี้ บนกำลังการผลิตน้ำมันที่ลดลง สืบเนื่องจากการปิดการผลิตในช่วงโควิดและช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ ในขณะที่
ความต้องการใช้ยังคงมีคงเดิม ทำให้ในระยะยาวแล้ว น้ำมันมีแนวโน้มจะราคาสูงแบบนี้มากกว่าที่จะลงไปยังจุดเดิม ยังไม่นับว่านโยบายพลังงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด กำลังทำให้ต้นทุนของพลังงานฟอสซิลมีแนวโน้มจะสูงขึ้นมากกว่าลดลง ดังนั้น ตราบใดที่พลังงานทางเลือกยังมีไม่เพียงพอและยังไม่ยั่งยืน มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากนโยบายของภาครัฐในโลกนี้
นอกจากนั้น พลังงานทางเลือกก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้สินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าจำนวนมากบนโลกนี้ หากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์มีมากขึ้น แต่ความสามารถในการผลิตยังจำกัดอยู่เหมือนเดิม แนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็น่าจะราคาสูงขึ้นตามไปด้วย จนส่งผลกระทบไปถึงราคาสินค้าทั่วไปในรายการอื่นๆ เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น
เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว ค่ายนี้จึงเชื่อว่า เงินเฟ้อนั้นน่าจะเหนียวหนืด ลงยาก แถมในปีถัดไป เงินเฟ้อน่าจะกลับมาใหม่อีกครั้งมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าภาครัฐมีการสนับสนุนเงินทุนลงมาบนเศรษฐกิจบนนโยบายพลังงานสะอาด ที่เป็นเทรนที่โลกนี้กำลังกังวลอย่างมาก ก็จะทำให้ความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อนั้นยิ่งแย่ลงไปอีกในอนาคต