US Policy Maker และทฤษฎีแรงจูงใจ
ความจริงอย่างหนึ่งที่กระทบพฤติกรรมมนุษย์ และเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันกระทบพฤติกรรมของเราเองด้วย นั่นคือ ‘Incentive’ หรือสิ่งจูงใจ
พลังอย่างหนึ่งของการเข้าใจคำว่า incentive คือทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์ได้ หลายๆ ครั้ง เมื่อเข้าใจก็เดาต่อไปได้ ว่าพฤติกรรมถัดไปของเขาจะคืออะไร
ในเคสรัฐบาลสหรัฐ ขณะนี้ incentive ของพวกเขาคือ vote หรือคะแนนเสียง โดยเฉพาะในยามที่กำลังจะมี midterm election ในปลายปีนี้ ท่ามกลางคะแนนเสียงของปู่โจที่ all time low
และปู่คิดว่า หนทางที่จะได้คะแนนเสียง ก็คือการจัดการกับปัญหาเรื่อง inflation นำมาสู่การกดดัน Fed ให้จัดการกับ inflation และพยายามส่งสัญญาณให้ประชาชนว่า รัฐบาลแคร์เรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนนะ และจะพยายามจัดการกับ inflation
นี่เป็นวิธีที่เราเห็น Trend ของ policy maker ว่าเขาต้องการอะไร
อย่างไรก็ดี ความตลกคือ บนความอยากลด inflation เพื่อให้ได้คะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น ปัญหาคือรัฐบาลเองก็โนไอเดียเหมือนกัน ว่าใช้นโยบายอะไรจึงจะดี ซ้ำร้าย ถ้าติดตามรัฐบาลปู่มา จะพบว่าปู่ชอบพูดมากกว่าทำ พูดเยอะทำน้อยประสานักการเมืองจ๋า จนบางทีเราก็สงสัยว่ารัฐบาลปู่แกทำอะไรเป็นมั่งนะ
บนความไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับปัญหา inflation อย่างไร รัฐบาลปู่ถึงมีแนวทางนโยบายประหลาดๆ มาตลอด เช่นไปรีดภาษีบริษัทน้ำมันและโรงกลั่น ซึ่งนโยบายนี้ไม่ช่วยให้น้ำมันราคาลง แถมยังเป็นการ ‘disincentivize’ ผู้ประกอบการและนักลงทุน ให้ถอยห่างจากอุตสาหกรรมนี้ออกไปอีก กลายเป็นกดดัน Supply ให้ลดลง ดันราคาแก๊สเพิ่ม
ที่ตลกร้ายที่สุด รัฐบาลปู่คุยกันว่าจะทำนโยบายควบคุมราคาพลังงาน ไม่ให้เกินราคาที่รัฐกำหนด หรือที่เรียกกันว่านโยบาย price control
ไม่รู้นโยบายนี้ถูกตีตกหรือยัง เพราะได้ยินมาเรื่อยๆ เลยว่ารัฐบาลปู่อยากทำนโยบายนี้ จนตอนนี้หลายคนถึงขั้นอยากส่งรัฐบาลปู่ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ 101 เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง price / demand / supply เพราะดูเหมือนปู่จะไม่เข้าใจจริงๆ ว่านโยบาย price control นอกจากจะไม่ช่วยให้ราคาน้ำมันลงแล้ว ยังจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งทะลุจักรวาลอีกด้วย
หันกลับมาที่ฟาก Fed หากถามว่าตอนนี้ Fed กลัวอะไรมากที่สุด คำตอบก็กลับมาที่ inflation เช่นกัน โลกเราไม่มีตัวเลขเงินเฟ้อโหดขนาดนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2008 หลัง Hamburger Crisis โลกเราก็อยู่บนเงินเฟ้อต่ำมาตลอดจนเป็นนิสัยเคยชินสำหรับ Fed ว่าเงินเฟ้อมันยากจะเกิด รู้ตัวอีกที มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว
Fed อยากจัดการกับเงินเฟ้อมาก แต่ปัญหาคือ Fed มีเครื่องมือแค่ 2 อย่าง คือการพิมพ์/ดูดเงิน กับอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง 2 เครื่องมือนี้มีผลบน Demand side ไม่ใช่ Supply side
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าทำไม Fed ถึงไม่กระโดดไปจัดการกับปัญหาฟาก Supply ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาของเงินเฟ้อในขณะนี้ เหตุผลง่ายๆ คือ Fed ไม่มีอำนาจข้ามไปจัดการฝั่ง Supply Fed อาจจะปรินท์เงินได้ แต่ Fed ไม่อาจปรินท์น้ำมันหรืออาหารได้ สิ่งเดียวที่ Fed ทำได้คือการจัดการกับฟากของ Demand เพื่อให้ไปกระทบชิ่งที่ราคาสินค้า โดยหวังว่าถ้า Demand ลดลง ราคาสินค้าจะลดได้ ซึ่งเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างที่ Fed หวัง จึงหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากการทำลาย Demand ลงไม่ได้ โลกเราจึงอยู่ในสภาวะที่จะเข้าสู่ Recession ได้ทุกเมื่ออย่างในเวลานี้ สืบเนื่องจากแรงจูงใจในการทำลาย inflation หรืออัตราเงินเฟ้อของ Fed
เมื่อมองเห็นทั้งหมดนี้แล้ว ก็จะพบได้ว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาทั้งหมดมาจากความผิดพลาดของ Policy Maker ทั้งหมด แต่ความผิดพลาดนั้นเกิดบนความไม่รู้มากกว่า สำหรับ Fed หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องใหม่สำหรับ Fed ที่ต้องเผชิญทั้งสิ้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับ Fed ที่เผชิญกับการ Lock down ของเศรษฐกิจซึ่งสืบเนื่องจากโรคระบาด เป็นครั้งแรกสำหรับ Fed ที่ต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อ และเป็นครั้งแรกของ Fed ที่ดำเนินนโยบายทางการเงินแข็งกร้าว เร็ว และแรง ขนาดนี้เช่นกัน ดังนั้น Fed ไม่ได้ฉลาดเหนือคนธรรมดา พวกเขาก็เป็นคนธรรมดาที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นไปอย่างที่พวกเขาต้องการหรือไม่เช่นเดียวกัน
ส่วนสำหรับรัฐบาลปู่โจเอง การดำเนินนโยบายต่างๆ นั้นสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจบนความนิยมเช่นกัน รัฐบาลปู่คิดว่าการดำเนินนโยบายแซงชั่นรัสเซียจะทำให้คนอเมริกันรักปู่มากขึ้นในฐานะที่ทำ ‘สิ่งที่ถูกต้อง’ ในบทบาทตำรวจโลกที่ต้องลงโทษประเทศที่ก่อความรุนแรง รัฐบาลปู่คิดว่าการอยู่คนละขั้วกับบริษัทน้ำมันและกล่าวหาว่าบริษัทน้ำมันเอาเปรียบประชาชนชาวสหรัฐ จะทำให้คนอเมริกันรักปู่มากขึ้นเพราะปู่อยู่ฟากประชาชน และรัฐบาลปู่ก็คิดว่า หากควบคุมราคาน้ำมันได้ ก็จะเอาเงินเฟ้อลงได้ และจะได้ฐานเสียงกลับคืนมา
ดังนั้น ทุกคนโยบายล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘ความนิยม’ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็น incentive ที่สำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลปู่โจ
แต่สิ่งที่ตามมาจากนโยบายและทิศทางของรัฐบาลปู่ ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อดีขึ้น แต่กลายเป็นทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงมากกว่า บนความไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจโลก และไม่เข้าใจเรื่อง Demand/Supply เศรษฐกิจสหรัฐแย่ลง ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วน และความนิยมในรัฐบาลของปู่โจก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างกู่ไม่กลับ
สรุปสุดท้าย ง่ายๆ สั้นๆ ที่สุด คือ Policy Maker ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เก่งขนาดนั้น พวกเขามีหลายเรื่องที่ไม่รู้และไม่เข้าใจเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปเช่นกัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจพวกเขา คือการเข้าใจว่าเป้าหมายของพวกเขาต้องการอะไร อะไรเป็นแรงจูงใจของพวกเขา จากนั้น เราจะเข้าใจความเป็นไปของนโยบายทั้งหมดได้มากขึ้น จนถึงขั้นสามารถคาดเดานโยบายถัดไปได้ด้วย แม้พวกเรา ในฐานะประชาชนตัวเล็กๆ ของโลกใบนี้ จะไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ แต่ในฐานะประชาชนตัวเล็กๆ เราสามารถมีพลังที่จะเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตได้บนการเข้าใจเรื่อง incentive ของ policy maker
Blackbox4.0 by Mei